มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านริมชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ต้องรับมือกับความรุนแรงของคลื่นลมเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ตุลาคมไปจนถึงประมาณมีนาคม โดยที่ช่วงเวลาและความรุนแรงอาจเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี
ชาวบ้านม่วงงามหมู่ 3 (นอกพื้นที่พิพาทคดีม่วงงาม) ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นเดียวกัน ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดสำหรับมรสุมตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงปัจจุบันคือเหตุการณ์ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565
จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้เทศบาลเมืองม่วงงามและชาวบ้านนำทรายมาบรรจุใส่กระสอบและช่วยกันวางเพื่อป้องกันคลื่นและน้ำไหลเข้าบ้านชาวบ้านที่อยู่ประชิดชายหาด
Beach Lover ได้มีโอกาสลงสำรวจภาคสนามพื้นที่เดียวกันนี้ในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปแล้วพบแนวกระสอบทรายหลายจุด ทั้งที่ยังอยู่ในแนวเดิมและที่โดนคลื่นซัดไปบ้าง จมทรายไปแล้วบ้าง
เหตุการณ์รุนแรงนี้แม้เกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาไม่นาน แต่ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ตั้งถิ่นฐานและใช้ประโยชน์บนชายหาดเป็นอย่างมาก ถือเป็นภัยพิบัติที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาแก้ไขปัญหานี้แบบเร่งด่วนฉุกเฉินเหมือนที่จัดการกับภัยพิบัติอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอในประเด็นนี้ได้จาก https://dxc.thaipbs.or.th/post-special/กัดเซาะชายฝั่ง-สาธารณ/
ซึ่งหากนำมาถือปฏิบัติได้จริง หน่วยงานก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น ทั้งยังแก้ไขปัญหาได้อย่างไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ ซึ่งหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างป้องกันแบบถาวรต่อไปเรื่อยๆ สร้างเฉพาะที่จำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบและรื้อถอนออกได้ยามหมดความจำเป็น ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบที่ถูกส่งต่อไปยังพื้นที่ข้างเคียงจากโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบถาวร ถือเป็นการสมประโยชน์ทั้งรัฐเองที่ได้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน และประชาชนเองก็ได้รับความปลอดภัยและสวัสดิภาพกลับมา
น่าติดตามกันต่อไปว่า ท้องถิ่นอย่างเทศบาลเมืองม่วงงามจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร รวมถึงโครงสร้างการแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นอย่างการแก้ไข พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะมีส่วนช่วยให้การแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วนฉุกเฉินนี้ออกมาในรูปแบบใด … ติดตามต่อไปอย่างใจเย็น