ของฝากจาก “ปาบึก” เมื่อพายุพัดพาชายหาด ?

ที่มา: https://www.sarakadee.com/2022/04/07/pabuk/

เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๒ พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยและพัดขึ้นชายฝั่งภาคใต้ตอนล่างที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หลายคนน่าจะยังจำเหตุการณ์ รวมถึงการรายงานข่าวพายุหมุนเขตร้อนนอกฤดูมรสุมที่รุนแรงมากที่สุดลูกหนึ่งพัดเข้าสู่เมืองไทยครั้งนั้นได้

“พายุปาบึก” มีจุดก่อตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ ช่วงแรกๆ มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางอยู่ในระดับพายุดีเปรสชั่น หลังจากนั้นเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตก เพิ่มความเร็วลมจนกลายเป็นพายุโซนร้อน เมื่อเดินทางมาถึงชายฝั่งภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางอยู่ประมาณ ๗๕-๘๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะยังเทียบไม่ได้กับพายุไต้ฝุ่นเกย์ หรือพายุแฮร์เรียต แต่ก็ใกล้เคียงกับความรุนแรงของพายุลินดาเมื่อปี ๒๕๔๐ นับเป็นพายุหมุนที่มีความรุนแรงมากในรอบหลายสิบปีที่พัดเข้าสู่ประเทศไทย

พายุโซนร้อนปาบึกขณะมีกำลังสูงสุดพัดขึ้นฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๒ (ภาพ : th.wikipedia.org)

การมาของพายุปาบึก ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนัก และมีคลื่นสูงพัดเข้าสู่ชายฝั่ง พายุหมุนลูกนี้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๒ ส่งผลให้จังหวัดต่างๆ ไล่ตั้งแต่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปถึงชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา ฯลฯ เกิดฝนตกอย่างหนัก น้ำป่าไหลหลาก ต้นไม้หักโค่น มีรายงานว่าทางการต้องสั่งอพยพประชาชนกว่า ๓ หมื่นคน ใน ๖ อำเภอติดชายทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราช สายการบินที่ให้บริการเส้นทางเกาะสมุยและจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องยกเลิกเที่ยวบิน ผู้ให้บริการบริการเรือเฟอร์รี่และเรือโดยสารที่รับส่งผู้โดยสารตามเกาะต่างๆ หยุดให้บริการ ชาวประมงพื้นบ้านพากันนำเรือเข้ามาจอดเก็บตามร่องน้ำเพื่อความปลอดภัย เรือที่แล่นออกทะเลไปก่อนแล้วก็ต้องหาทางนำเรือเข้าหลบตามเกาะต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันประกาศอพยพพนักงานที่ประจำอยู่บนแท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทยกลับขึ้นฝั่ง ระงับการเดินทางไปยังฐานปฏิบัติการนอกชายฝั่งเพราะเกรงว่าจะได้รับอันตราย

ไม่กี่วันต่อมา พายุปาบึกก็เคลื่อนผ่านประเทศไทยข้ามไปยังมหาสมุทรอินเดีย มุ่งไปทางพม่า อินเดีย และบังคลาเทศ

ภายหลังความรุนแรงของพายุผ่านพ้นไป มีรายงานว่าชายหาดแม่รำพึง ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการกัดเซาะ จึงตามมาด้วยโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดแม่รำพึง ของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นคอนกรีตขั้นบันได ความยาว ๙๖๖ เมตร หรือเกือบ ๑ กิโลเมตรตามแนวชายหาดแม่รำพึง หลังสร้างกำแพงกันคลื่นเฟสแรกเสร็จ ก็จะเร่งสร้างเฟสสองต่อ

กรมโยธาธิการและผังเมืองชี้แจงว่าโครงการนี้เกิดจากการร้องขอของประชาชนผ่านทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง โดยมีการทำหนังสือมาถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองถึง ๓ ระบุว่าชายหาดแม่รำพึงมีการกัดเซาะ ต้องของบประมาณสนับสนุนป้องกัน

พายุโซนร้อนปาบึก เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๒ ภาพจากดาวเทียมฮิมาวาริ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (ภาพ : news.files.bbci.co.uk/include/vjeastasia/211-pabuk-storm/thai/app/amp)

อย่างไรก็ตามมีคนท้องถิ่นจำนวนมากรวมกลุ่มกันในนาม เครือข่ายประชาชน Saveหาดแม่รำพึง ระบุว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในการใช้ประโยชน์จากชายหาด อาทิ ค้าขาย จอดเรือ หาหอย ทำกิจกรรมทางการประมง รวมถึงนันทนาการ ฯลฯ ทางเครื่อข่ายฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีการร้องขอโครงการครั้งแรกในปี ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน ชายหาดแม่รำพึงไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด การกัดเซาะที่เกิดขึ้นบ้างเป็นการกัดเซาะตามฤดูกาล แม้แต่กรณีเหตุการณ์พายุปาบึกพัดผ่านหาดแม่รำพึง เมื่อพายุพัดผ่านไป สภาพของหาดทรายที่ถูกคลื่นลมกัดเซาะก็งอกกลับเข้าสู่สภาพปกติจึงไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแต่อย่างใด โดยเฉพาะโครงสร้างขนาดใหญ่ตามแบบแผนที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดว่าจะสร้าง

หาดทรายเป็นมรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น ทุกวันนี้หาดทรายธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหรือกำแพงกันคลื่นเข้ามาทำให้หาดทรายเสียสมดุลจนเม็ดทรายค่อยๆ หาดไป

หลังสือหาดทราย มรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างทะเลและหาดทรายมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง จนบ่อยครั้งที่มีคนเข้าใจผิดว่าการสูญเสียหาดทรายตามธรรมชาตินั้นเป็นปัญหา ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

การเข้าใจผิดว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเป็นปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อปัญหาที่ลุกลามบานปลาย

ในอดีตโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเคยเป็นโครงการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) และจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ภาพถ่ายทางอากาศ หาดแม่รำพึง ช่วงต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๕ (ภาพ : Beach for life)

แต่หลังจากปี ๒๕๕๖ กำแพงและกองหินกันคลื่นกลายเป็นโครงการที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องทำอีไอเออีกต่อไป ด้วยเหตุผลหลักๆ ของหน่วยงานที่ต้องการผลักดันคือทำให้การก่อสร้างล่าช้า ต้องมีการตรวจสอบหลายขั้นตอนกว่าโครงการจะผ่าน ที่สำคัญคือการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาด ในขณะที่ผู้รับผิดชอบโครงการอันเป็นหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นอ้างว่าต้องรีบเร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อเยียวยาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น นับตั้งแต่บัดนั้นก็เกิดสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นโรคระบาดบนชายหาดเมืองไทย มีกำแพงกันคลื่นผุดขึ้นมากมายตามชายฝั่ง

ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลายแห่งที่มักจะมาพร้อมกับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่ง อาทิ โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่มีภาคประชาชน นักวิชาการ และกลุ่มเยาวชนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรานำโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบ “ชั่วโคตร” มาใช้แก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นเพียง “ชั่วคราว” ชายหาดที่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงมีการกัดเซาะแบบชั่วคราวมาโดยตลอด ก็จะกลายเป็นชายหาดที่มีการกัดเซาะแบบชั่วโคตรทันที นอกจากนี้ ตัวโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ถูกสร้างขึ้นนั้นเองจะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการกัดเซาะชายหาดในส่วนที่อยู่ถัดๆ ไป

ผศ.ดร.สมปรารถนา ซึ่งติดตามปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพหาดทรายและชายหาดมานานให้สัมภาษณ์เพจ Beach for Life และเว็บไซด์ BEACHLOVER.NET ว่า “รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มั่นคงถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างไม่รุนแรง ไม่มีเหตุผลอย่างเพียงพอที่ต้องสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ทับลงบนชายหาดที่ยังสมบูรณ์ รัฐควรเลือกใช้แนวทางเลือกที่สมดุลกับการกัดเซาะที่ต้องการป้องกัน


“การสร้างกำแพงกันคลื่นที่รัฐเลือกใช้ ไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ คือการป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวในช่วงฤดูมรสุมช่วงสั้นๆ หรือช่วงใดช่วงหนึ่งโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเท่ากับโครงการที่กำลังดำเนินการ โครงสร้างป้องกันชายฝั่งลักษณะเช่นนี้จึงขัดต่อหลักความจำเป็น

“มาตรการการสร้างกำแพงกันคลื่น อาจขัดต่อหลักแห่งความได้สัดส่วน กล่าวคือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ ทั้งชายหาดด้านหน้ากำแพง และพื้นที่ข้างเคียง ตลอดจนงบประมาณที่รัฐจะต้องเสียในปีถัดๆ ไปเพื่อการแก้ไขปัญหา และบำรุงรักษาโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนี้”

โดยปรกติแล้วชายหาดแต่ละแห่งมีความเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ช่วงฤดูมรสุมชายหาดหลายแห่งอาจหดสั้น เหลือพื้นที่หาดทรายไม่มากนัก แต่พ้นช่วงมรสุมไปแล้วชายหาดจะกลับมาทอดยาว อาจกล่าวได้ว่าชายหาด “มีอ้วนมีผอม” มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ การกัดเซาะที่เกิดขึ้นจึงต้องจำแนกให้ชัดเจนเสียก่อนว่าเป็นการกัดเซาะแบบ “ชั่วคราว” หรือ “ชั่วโคตร”

วิธีการป้องกันชายหาดก็เช่นกัน ที่ผ่านมา โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งหรือกำแพงกันคลื่นหลายแห่งของภาครัฐ โดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมืองมักจะคำนึงความมั่นคงแข็งแรง แก้ไขปัญหาด้วยการสร้างโครงสร้างแข็งให้อยู่คู่ชายหาดแถบนั้นตลอดไป เป็นการสร้างโครงสร้างแข็งแบบชั่วโคตรที่มักจะมาพร้อมกับการหายไปของชายหาด หาดทราย ต้นไม้ชายทะเล แบบชั่วโคตรเช่นกัน

ในกรณีที่คนท้องถิ่นประสบปัญหา เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยแก้ไข แต่หน่วยงานรัฐเลือกใช้วิธีการเดิมๆ ที่ทำกันมานานจนเคยชิน คือยึดมาตรการป้องกันชายหาดแบบชั่วโคตรทั้งๆ ที่ปัญหาการกัดเซาะบริเวณนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ก็คงต้องเฝ้าติดตามดูว่าต่อไปพื้นที่ชายหาด หรือหาดทรายตามธรรมชาติของประเทศไทยจะหลงเหลืออยู่สักแค่ไหน แล้วเราจะได้ชายหาดแบบใดหลังโครงการป้องกันชายฝั่งเสร็จสิ้น ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นกับชายหาดทุกแห่งต้องป้องกันแก้ไขด้วยโครงสร้างแบบชั่วโคตรจริงๆ พายุหลายๆ ลูกที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยก็คงจะพัดพาความสวยงามของชายหาดเมืองไทยหมดสิ้นไปนานแล้ว