ชายหาดบ้านบูดี ตั้งอยู่บนแหลมตาชีหรือแหลมโพธิ์ จ.ปัตตานี เป็นหาดทรายยาวต่อเนื่องกับหาดตะโละกาโปร์ เป็นแหลมที่กั้นอ่าวปัตตานี (ทะเลใน) และอ่าวไทย (ทะเลนอก) เกิดจากการก่อตัวของสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเลในลักษณะสันดอนจะงอย โดยปลายแหลมจะงอกเพิ่มขึ้นทุกปี บริเวณด้านในของแหลมฝั่งที่หันหน้าเข้าหาแผ่นดินใหญ่ ใกล้ๆกับหาดบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนมากมาย เช่น บ้านดาโต๊ะ บ้านตะโละสะมิแล ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก และมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลากะพง หอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นต้น และบริเวณด้านนอกของแหลมฝั่งที่หันหน้าออกทะเลกว้าง มีที่พักเอกชนให้บริการหลายแห่ง (https://thai.tourismthailand.org/Attraction/แหลมตาชี-หรือ-แหลมโพธิ์)
ภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ปี 2563
ภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ปี 2565
Beach Lover ได้เคยพาไปสำรวจชายหาดบริเวณแหลมตาชีมาแล้วหลายครั้ง อ่านเพิ่มเติมได้จากการ Icon search ด้านมุมขวาบนของเวบนี้ แล้วค้นหาคำว่า “แหลมตาชี”
ล่าสุด Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจชายหาดแถบนี้อีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน 2566 พบว่ามีการพัฒนาพื้นที่ริมชายหาดไปเป็นรีสอร์ทมากขึ้นกว่าเดิม ยังพบอีกว่ามีรีสอร์ทหลายแห่งกำลังก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดให้บริการในเร็ววันนี้ โดยสังเกตเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินริมชายหาดจากภาพถ่ายดาวเทียมปี 2557-2565 ตามภาพด้านบน
จากการเดินเท้าสำรวจพื้นที่ในกรอบสีแดงของรูปด้านบน พบร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงความพยายามในการป้องกันชายฝั่งหลายรูปแบบ ดัง Clip VDO นี้ https://youtu.be/RNgObpA4bJg
พบว่าถนนริมชายฝั่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าสร้างมาแล้วนานเท่าไหร่พังเสียหายและไม่สามารถสัญจรได้ สังเกตจากแนวถนนเดิมแล้วพบว่าถนนเส้นนี้ตัดประชิดกับชายหาดมากๆและยังไม่พ้นจากระยะอิทธิพลของคลื่นและน้ำทะเล นอกจากนั้นยังพบว่าถนนเส้นนี้มิได้ตัดผ่านไปยังชุมชนใดๆ เป็นเพียงถนนเลียบชายหาดที่ผ่านไปยังรีสอร์ทริมทะเลเท่านั้น
พบเศษซากของสิ่งปลูกสร้างบางส่วนริมทะเลได้รับความเสียหาย คาดเดาว่าเป็นของรีสอร์ทที่ตั้งอยู่ประชิดทะเล รวมถึงพบความพยายามเพื่อป้องกันชายฝั่งแบบไม่ถาวรตลอดริมชายหาดบริเวณนี้ เช่น กระสอบทราย แนวไม้ไผ่ ท่อซีเมนต์ ซึ่งไม่ทราบเจ้าของและช่วงเวลาที่ดำเนินการป้องกัน
จากการสังเกตพบว่าสิ่งปลูกสร้างแถบนี้ทั้งถนน รั้ว และบางส่วนของรีสอร์ทตั้งอยู่ประชิดทะเลมากๆ แม้บางฤดูกาลชายหาดแถบนี้จะสงบปราศจากคลื่นลมแรง รวมถึงอาจมีทรายมาทับถมตลอดแนว แต่ปรากฏการณ์นี้มิได้คงอยู่ตลอดไป เนื่องจากชายหาดมีความเป็นพลวัตสูง เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูมรสุมของทะเลแถบนี้คือช่วงปลายปีถึงต้นปี (https://beachlover.net/ชายหาดมีฤดูกาล/) ที่จะได้รับผลกระทบจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นและคลื่นมีพลังทำลายล้างสูงกว่าช่วงฤดูกาลอื่นๆ หากเราสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรไม่พ้นระยะที่น้ำทะเลและคลื่น “Exercise” ช่วงมรสุม คาดเดาได้ไม่ยากเลยว่า จะได้รับความเสียหายอย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะโลกรวนที่คาดเดาสถานการณ์ทางทะเลได้ยากยิ่งกว่าในอดีต