กลุ่มประมงพื้นบ้านดอนสัก ร่วมเรียนรู้ระบบ ติดตามชายหาดโดยชุมชน

ที่มา: https://www.facebook.com/LaetaLaeTai/

กลุ่มประมงพื้นบ้านอำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี สำรวจการกัดเซาะชายฝั่งช่วงฤดูมรสุม เพื่อบันทึกข้อมูลการติดตามชายหาดโดยชุมชน หวังใช้เป็นประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาชายหาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ.

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 พ.ย.2564) กลุ่มประมงพื้นบ้านจาก 3 ตำบล ในอำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี รวม 30 คน ร่วมเรียนรู้ข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่ง และแนวทางการแก้ปัญหา ณ โรงเรียนวัดนทีวัฒนาราม ต.ชลคราม อ.ดอนสัก เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาพื้นที่ จากการแลกเปลี่ยนข้อมูล พบว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของ อ.ดอนสัก เริ่มต้นตั้งแต่มีนโยบายสัมปทานป่าชายเลน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ช่วง พ.ศ.2530 ทำให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่ายเลน แปรสภาพเป็นบ่อเพาะเลี้ยงกุ้ง จนมาถึงยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและขนส่งน้ำมันทางทะเลระหว่างแผ่นดินใหญ่ กับ อ.เกาะสมุย อ.เกาะพงัน ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งมาจนปัจจุบัน.

จากนั้น ได้รวมกลุ่มกันทำการสำรวจพื้นที่ชายหาดบริเวณชายหาดบ้านพอด ต.ชลคราม ซึ่งใกล้กับพื้นที่กำแพงกันคลื่นแบบเรียงหิน รวมระยะทาง 1,800 เมตร จากคลองตั้ว ถึง The Tamarind รีสอร์ท มีเป้าหมายในการก่อสร้างเพื่อป้องกันชุมชน และพื้นที่จอดเรือของชุมชนบ้านพอด ปัจจุบันการกัดเซาะชายฝั่งนั้นเกิดขึ้นบริเวณด้านท้ายของกำเเพงกันคลื่นตั้งเเต่ The Tamarind รีสอร์ท ไปทางด้านเหนือ เจ้าของรีสอร์ทมีมาตรการป้องกันโดยการปักไม้ไผ่เเละวางเศษวัสดุต่างๆป้องกันการกัดเซาะซึ่งเป็นผลกระทบจากกำเเพงกันคลื่น อีกทั้งกำเเพงกันคลื่นที่สร้างโดยกรมโยธาฯ อายุมากกว่า 15 ปีนั้น ทำให้มีการทรุดตัวของกำเเพงกันคลื่น ในช่วงมรสุมกำลังเเรงบางช่วงปี น้ำจะทะลักข้ามกำเเพงกันคลื่นมาสู่พื้นที่ของชุมชน.

การจัดเวทีส่งเสริมความรู้การติดตามชายหาดนั้น มีการฝึกหัดให้ชุมชนใช้เครื่องมือติดตามระบบชายหาดอย่างง่าย บันทึกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ BMON (BeachMonitoring) ทำให้สามารถติดตาม/ตรวจสอบการกัดเซาะชายหาดในฤดูกาลต่างๆของพื้นที่ได้ในระยะยาว

นายสง่า ทองศรี ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรหมู่บ้าน ตำบลชลคราม ได้กล่าวว่า การได้รับฟังข้อมูลและแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในวันนี้ ทำให้ได้เข้าใจว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จะเกิดปัญหาบริเวณหัวและท้ายเขื่อน แม้จะมีประโยชน์ต่อชุมชน แต่ส่งผลกระทบในพื้นที่ใกล้เคียง การได้ทดลองสำรวจข้อมูลชายหาดโดยชุมชนจึงเป็นประโยชน์มาก เพื่อจะได้มีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกำแพงกันคลื่น และสามารถนำเสนอข้อมูลและแผนการพัฒนาชายหาดต่อหน่วยงานรัฐได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป