คดีคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์

โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งและโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะ ชายหาดคลองวาฬ .ประจวบคีรีขันธ์ 

สภาพทั่วไปของพื้นที่

เป็นชายหาดที่ติดกับอ่าวมะนาวมีคลองวาฬเชื่อมต่อกับทะเลสองฝั่งคลองเป็นป่าชายเลน  บริเวณหาดคลองวาฬเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง มีความเงียบสงบ ความยาวของหาดประมาณ 4 กม. เป็นชายหาดทรายผสมเลน มีร้านอาหาร ที่พัก   ชุมชนชายฝั่ง 

ข้อเท็จจริงของโครงการที่เกิดขึ้น 

โครงการมีองค์ประกอบคือ (1)  เขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันตลิ่งยาว 300  ม. บนชายหาด สร้างเมื่อ ก.ย.2547 (2)  สวนสาธารณะบนชายหาดคลองวาฬ ซึ่งประกอบด้วยลานเอนกประสงค์   ถนนคอนกรีตเสริม  เหล็ก ลานจอดรถ รางระบายน้ำ    ทางดินถมพร้อมเกรดปรับแต่ง   พร้อมปรับภูมิทัศน์ ดำเนินการพร้อมเขื่อนป้องกันตลิ่งเมื่อปี  2547 (3)  เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งแบบหินทิ้งจำนวน 11 ตัว ความยาวตัวละ 50 ม. จำนวน 5 ตัว และยาวตัวละ 100 ม. จำนวน 6 ตัว ตลอดแนวชายฝั่งยาวประมาณ 1.3 ก.ม. สร้างเมื่อปี 2548 แสดงดังรูปที่ 1

ประเด็นเชิงกายภาพ

เมื่อมีการสร้างกำแพงป้องกันชายฝั่งชายหาดด้านหน้ากำแพงจะค่อยๆหดหายได้ เนื่องมาจากแรงปะทะของคลื่นที่วิ่งเข้ากระทบกำแพงแล้วสะท้อนออก ส่งผลให้ทรายด้านหน้ากำแพงถูกดึงหายออกไปด้านนอกฝั่ง ยังคงเห็นชายหาดโผล่พ้นน้ำบ้างยามน้ำลงบางครั้งเท่านั้น เรือประมงชาวบ้านที่เคยใช้พื้นที่ชายหาดเป็นที่จอดเรือจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แบบเดิม ในส่วนของเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งนั้น ได้ส่งผลให้คลื่นที่เข้ามาปะทะอ่อนกำลังลงด้านหลังเขื่อนกันคลื่นและเกิดการทับถมของตะกอนทรายด้านหลัง  ซึ่งทำให้ชายหาดระหว่างช่องเปิดของเขื่อนแต่ละตัวนั้นเกิดการกัดเซาะเว้าโค้งเป็นวงเสี้ยวพระจันทร์ 

ชายหาดคลองวาฬยังมีโครงสร้างอื่นๆที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในคดีอีกคือ (1) ท่าเทียบเรือ (2) เขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือ (3) สะพานปลา (4) เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำคลองวาฬ (5) กำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งตลอดแนวชายหาดซึ่งโครงสร้างเหล่านี้อยู่บริเวณเดียวกันกับโครงการที่กล่าวถึงในคดีซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อลักษณะกายภาพของพื้นที่ชายฝั่งคลองวาฬทั้งสิ้น 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ของพื้นที่

พื้นที่ชายหาดด้านหน้าบริเวณที่มีการปรับภูมิทัศน์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสร้างกำแพงคอนกรีตป้องกันคลื่นนั้น สามารถมองเห็นหาดได้ยามน้ำลงบางครั้ง การขึ้นลงชายหาดเป็นไปได้ยากยิ่งเพราะต้องปีนข้ามสันและแนวลาดของกำแพงซึ่งอยู่สูงกว่าชายหาดมาก ส่วนในฤดูมรสุมคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะกำแพงแนวดิ่งส่งผลให้มีน้ำทะเลกระเซ็นข้ามสันกำแพงขึ้นมาบนทางเดินริมกำแพงบ้าง แสดงดังรูปที่ 2 

เพราะการมีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งมากมายบริเวณนี้ทั้งที่กล่าวถึงในคดีและที่ไม่ได้กล่าวถึงส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลงทิศทางและไหลช้าลงเนื่องจากการวางตัวกีดขวางการไหลของน้ำและตะกอนชายฝั่งของโครงสร้างต่างๆส่งผลให้ชายหาดทรายบางส่วนกลายสภาพเป็นเลนจอดเรือลำบากไม่สวยงามและไม่สามารถเล่นน้ำได้เหมือนในอดีตทั้งยังมีผลต่อระบบนิเวศสัตว์หน้าดินด้วยแสดงดังรูปที่ 3 ส่วนชายหาดที่อยู่ด้านหลังเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งแบบหินทิ้งณปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งเกือบตลอดทั้งแนวชายหาดแล้วเนื่องมาจากการกัดเซาะที่เกิดจากอิทธิพลของกำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่งนี้แสดงดังรูปที่ 4