หาดชะอำช่วงโควิด ยังสบายดี?

Beach Lover ได้เคยนำเสนอสถานการณ์ของชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ไปแล้วหลายครั้ง ติดตามได้จากโพสเก่าๆโดยใช้ Icon search ด้านขวาบน เครือข่ายของ Beach Lover ได้ลงพื้นที่ชายหาดชะอำในต้นเดือนตุลาคม 2564 พบชายหาดชะอำใต้ในหลากหลายสภาพ ทั้งกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่สร้างเสร็จแล้ว โดยพบว่าชายหาดด้านหน้ากำแพงบางตำแหน่งลดระดับต่ำลงจนเกิดเป็นแอ่งน้ำขัง รวมถึงยังพบเศษวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเศษหินระเกะระกะด้านหน้ากำแพงอีกด้วย ในส่วนของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่ยังไม่แล้วเสร็จนั้น พบเสาเข็ม เหล็ก กองหิน และเศษวัสดุก่อสร้าง บนชายหาดโดยไม่มีการกันเขตพื้นที่ก่อสร้าง ส่งผลต่อความปลอดภัยในการเข้าใช้ประโยชน์ของหาดท่องเที่ยวแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง น่าจับตามองส่วนของชายหาดถัดไปด้านทิศใต้ ที่กำลังจะมีโครงการในอนาคต ว่าจะดำเนินการอย่างไร ภายใต้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองรวมทั้งสิ้นกว่า 102.924 ล้านบาท ความคืบหน้าต่อจากนี้ Beach Lover จะนำมาเสนอในโอกาสถัดไป

Beachlover

October 14, 2021

เกาะพีพีช่วง COVID-19…ไม่ต่างอะไรกับเกาะส่วนตัว

พีพียามนี้ ไม่ต่างอะไรกับเกาะส่วนตัว น้ำทะเลสวยใสไร้ที่ติ ชายหาดที่สมบูรณ์แทบจะไม่พบรอยเท้าของผู้มาเยือน หาดทรายขาวไร้ขยะ กระบวนการทางธรรมชาติได้ซ่อมแซมและเยียวยาตัวเองอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากการรุกรานจากมนุษย์ … แต่เหล่านี้มีราคาที่ต้องจ่าย Beach Lover ได้ลงสำรวจสภาพชายหาดบนเกาะพีพีในช่วงเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ที่พักรายย่อยจำนวนมากรวมถึงพวก Budget hostel ปิดตัวลง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นต่างชาติเสียส่วนมาก บางแห่งปิดไปเลยอย่างถาวรเนื่องจากสายป่านไม่ยาวพอ ที่พอยืนระยะอยู่ได้คือรายใหญ่ๆ เท่านั้น ผู้ประกอบกิจการเรือท่องเที่ยวต้องจอดเรือทิ้งเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่ภายในเกาะ บนถนนสายเล็กๆที่ผู้มาเยือนเคยต้องเดินเบียดเสียดกัน คอยหลบรถเข็นและรถมอเตอร์ไซด์ เสียงโหวกเหวกปะปนกับจังหวะเพลงที่ดังออกมาตามร้านค้า บัดนี้ กลายสภาพเป็นสถานที่ร้างผู้คน ไร้ชีวิตชีวา ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อย่าง 7-11 ต้องปิดตัวไปสองสาขา เหลือเพียงสาขาเดียวที่ยังคงเปิดให้บริการ แม้แต่ร้าน McDonald’s, Coffee Club ที่เป็น Chain ระดับโลก ก็ยังต้องปิดตัวไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนผับบาร์ริมทะเลนั้นปิดตัวลงแล้วทั้งหมด และดูจากสภาพของอาคารร้านค้าที่พบเห็น หลายกิจการไม่น่าจะกลับมาเปิดได้แบบเดิมอีกแล้วในยุคหลัง COVID-19 เหล่านี้คือต้นทุนที่แม้จะขึงขังดึงดันที่จะไม่ยอม … แต่ก็ต้องจ่ายมันอย่างเจ็บปวด

Beachlover

April 23, 2021

เกาะไม้ไผ่ ช่วงโควิด

เกาะไผ่ หรือเกาะไม้ไผ่ เป็นเกาะเล็กกลางทะเล ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะพีพีดอน ไม่ไกลจากเกาะยุงเท่าใดนัก เกาะไผ่ อยู่ในพื้นที่การดูแลของอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี แต่บรรยากาศของเกาะไผ่จะต่างกับเกาะพีพีอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นเกาะที่เงียบสงบ  มีน้ำทะเลใส มากมีหาดทรายสวยงาม เป็นเกาะที่มีแนวปะการังที่สวยงาม เหมาะสำหรับมาดำน้ำดูความสวยงามของโลกใต้ทะเล ช่วงเวลาเหมาะการเที่ยว คือช่วงที่ไม่มีลมมรสุม ประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของทุกปี (https://www.paiduaykan.com) Beach lover ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพชายหาดของเกาะไม้ไผ่ช่วง Covid-19 ในเดือนมีนาคม 2563 พบว่าแทบกลายเป็นเกาะร้าง บรรยากาศช่างแตกต่างจากปีปกติมากมาย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีอย่างบางตามากๆนั้นเป็นคนไทยทั้งหมด แต่สิ่งที่แลกมากับบรรยากาศการท่องเที่ยวที่แสนจะเงียบเหงานี้ คือความสมบูรณ์ของชายหาดและทรัพยากรหน้าหาด เกาะนี้มีข่าวว่าจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นเกาะในช่วง Low season ของทุกปี ทั้งที่ไม่มีทรัพยากรใดบนเกาะถูกทำลายเสียหาย หรือสุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายจากการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ การปิดเกาะในเขตอุทยาน ควรมีเหตุผลอย่างเพียงพอ ที่จะให้เข้าใจได้ว่าการเปิดและปิดส่งผลดีและผลกระทบต่อทรัพยากรที่ทางอุทยานดูแลรักษาอยู่อย่างมีนัยสำคัญอย่างไร การปิดนั้นง่ายและไม่ต้องใช้ฝีมือ การเปิดแบบไร้ข้อจำกัดก็ไม่ต่างกัน แต่การเปิดอย่างมีเงื่อนไขต่างหากที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการ เป็นการพิสูจน์ทั้งฝีมือตลอดจนความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ถือครองอำนาจ โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ทรัพยากรนั้นอย่างยั่งยืน

Beachlover

April 21, 2021

สำรวจสถานภาพการกัดเซาะชายฝั่งพัทยา บรรยากาศเงียบเหงา

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่๒ (ชลบุรี) สำรวจสถานภาพชายฝั่งทะเล ท้องที่ จ.ชลบุรี บริเวณชายหาดเขาพระตำหนัก แหลมบาลีฮาย ชายหาดพัทยา และชายหาดวงศ์อำมาตย์ ตามกิจกรรมบูรณาการ การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ๒๓ จังหวัด พบว่าชายหาดที่ทำการสำรวจไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม สภาพทั่วไปเงียบสงบ นักท่องเที่ยวบางตา เนื่องจากสถานการณ์โคโรน่า (โควิด-๑๙)

Beachlover

January 21, 2021

หาดป่าตอง หลัง COVID-19 และ โนอึล

หาดป่าตอง เป็นชายหาดในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต บริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 15 กิโลเมตร นับว่าเป็นหาดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภูเก็ต เป็นชายหาดที่เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านดำน้ำ ร้านขายอุปกรณ์กีฬาทางน้ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย ไว้คอยบริการแก่นักท่องเที่ยว ด้วยชายหาดที่มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ป่าตองจึงเป็นหาดที่มีผู้นิยมมาเยือนมากที่สุด (https://th.wikipedia.org/wiki/หาดป่าตอง) ป่าตองหลัง COVID-19 จางหายไปจากประเทศไทย สิ่งสำคัญที่หายไปจากหาดป่าตอง คือ “ชีวิต” ป่าตองยามนี้ไม่ต่างจากเมืองร้าง หากไม่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ป่าตองช่วงมรสุมแบบนี้ ทะเลอาจไม่สวย ฟ้าอาจไม่ใส ลงเล่นน้ำไม่ได้ได้บางวัน แต่ยังจะมีผู้คนเดินขวักไขว่พลุกพล่าน โดยส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ แต่ยามนี้ แม้แต่ 7-11, Family Mart, McDonald’s และ Starbucks ยังต้องปิดอย่างไม่มีกำหนดไปแล้วหลายสาขา โรงแรมปิดไม่มีกำหนดไปหลายแห่ง ที่ยังเปิดอยู่ก็มีแขกเข้าพัก 10-15% ของช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนเท่านั้น สถานบันเทิง ร้านนวด สนามมวย และกิจการ 80-90% ต้องปิดตัวเอง เหลือเพียงบางกิจการที่มิได้พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมากนัก ที่ยังพอยืนระยะอยู่ได้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะมีสายป่านยาวพออยู่ได้ไปอีกสักเท่าไหร่ ตามปกติแล้ว […]

Beachlover

September 22, 2020

Blue Economy คีย์ฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวทางทะเล

ที่มา: https://tdri.or.th/2020/09/blue-economy-thailand/ [เผยแพร่ใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 10 กันยายน 2563] COVID-19 ส่งผลให้นานาประเทศต้องระงับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรค การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบบั่นทอนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวที่ปิดตัวลงในหลายพื้นที่ส่งผลต่อการจ้างงานและรายได้ของประชาชน แต่ท่ามกลางความตกต่ำของเศรษฐกิจพบว่า COVID-19 กลับสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทิศทางที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในหลายๆ ด้าน เช่น การ Work From Home หรือการประชุมออนไลน์ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นในรูปการประหยัดการเดินทางและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เป็นการลดต้นทุนด้านสถานที่ และการเดินทางให้กับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ (ลด Transaction Cost) การทำธุรกรรมทางการเงิน Internet Banking หรือ e-commerce ที่ช่วยลดค่าโสหุ้ยต่างๆ เป็นการประหยัดทรัพยากรของประเทศทำให้แรงงานและปัจจัยการผลิตสามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางอื่นมากขึ้น เพียงแต่ในช่วงการปรับตัวเข้าสู่สังคม New Normal จะทำให้เกิดการว่างงานขึ้นและ รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการจุนเจือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกลด การว่างงาน และถ่ายโอนทรัพยากรเข้าสู่กิจการใหม่ของสังคม New Normal อีกครั้ง นอกจากการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตสู่สังคม New Normal เป็นการสร้างโอกาสให้สังคมสามารถตักตวงประโยชน์จากการเป็นสังคมดิจิทัล ยังพบว่าการลดลงของกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลได้ส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างเห็นได้ชัด การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวส่งผลทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คุณภาพน้ำทะเลดีขึ้นและการลดลงของกิจกรรมทางทะเล ภายหลังการที่ประเทศไทยประกาศ Lockdown ประมาณ 1-2 […]

Beachlover

September 12, 2020

หาดพัทยา น่าเที่ยวแค่ไหน

Beach Lover ได้นำเสนอเรื่องราวของการเติมทรายชายหาดพัทยาไปแล้วหลายครั้ง ติดตามได้จาก https://beachlover.net/เติมทราย-พัทยา/ และ https://beachlover.net/บทเรียน-เติมทราย-พัทยา/ กระนั้นก็ตามทุกครั้งที่ฝนตกหนัก งานเติมทรายชายหาดพัทยาก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก น้ำฝนไหลบ่าทะลักลงสู่ชายหาดจนกัดเซาะเป็นร่องลึก หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องขุดทรายและขนทรายมาปิดบาดแผลนี้เป็นประจำ ตามที่ Beach Lover ได้เคยนำเสนอไปแล้ว https://beachlover.net/ฝนตกหนัก-พัทยา-หาดพัง/และ https://beachlover.net/หาดพัทยา-18-ต-ค-2562/ หาดพัทยาก็ไม่ต่างจากหาดท่องเที่ยวในระดับ International tourism beaches อื่นๆในช่วง COVID-19 ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากภัยคุกคามนี้ https://beachlover.net/หาดพัทยา-covid19/ Beach Lover ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เติมทรายชายหาดพัทยาในเดือนกันยายน 2563 พบทรายที่ถูกเติมแล้วเสร็จเมื่อกุมภาพันธ์ 2562 ด้วยงบประมาณ 420 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่านั้น ยังคงสภาพดี หาดยังกว้างมากกว่า 50 เมตร ยกเว้นยามฝนตกหนักที่ยังคงมีปัญหาตามที่ได้นำเสนอไปแล้ว แม้เป็นช่วงเย็น แต่พบว่าชายหาดเงียบสงบ มีผู้ใช้ชายหาดอย่างบางตา แม้ร่มเตียงชายหาดที่ถูกกางเพื่อทำมาค้าขายลดลงไปจากเดิมมากกว่าครึ่ง แต่ก็พบว่าแทบไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการเลย รถราสามารถหาที่จอดได้ง่ายริมถนนสายเลียบทะเลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้คนที่เคยเดินขวักไขว่แทบจะชนกัน ภาษาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่โหวกเหวกโวยวาย บัดนี้ภาพเหล่านั้นได้หายไปจนหมดสิ้น ชายหาดพัทยายาว 2.8 กิโลเมตร ได้กลับมาเป็นของคนไทยอีกครั้ง แต่ราคาที่ต้องจ่ายคือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ธุรกิจที่ต้องปิดตัว […]

Beachlover

September 11, 2020

สำรวจทะเลภูเก็ต เห็นแล้วชื่นใจ น้ำใส ไร้ขยะ [23เม.ย.2563]

ที่มาข่าว: https://www.facebook.com/DMCRTH วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๓ กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน เก็บข้อมูลภาพถ่ายสภาพชายหาดหลังจากการประกาศห้ามกิจกรรมบริเวณชายฝั่ง เนื่องจากโควิค-๑๙ โดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับเปรียบเทียบในพื้นที่เดียวกันกับช่วงเวลาปกติที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายหาดและทะเล เริ่มสำรวจตั้งแต่เขต อ.เมือง ได้แก่ หาดอ่าวยนต์ อ่าวฉลอง หาดราไวย์ หาดยะนุ้ย หาดกะตะ หาดกะตะน้อย และหาดกะรน เขต อ.กะทู้ หาดป่าตอง และหาดไตรตรัง ผลการสำรวจพบว่าสภาพชายหาดไม่มีผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ สภาพหาดสะอาด น้ำทะเลใส ไม่พบขยะในทะเลและขยะที่ชายหาดซึ่งเกิดจากกิจกรรมท่องเที่ยว พักผ่อน สันทนาการทางทะเล

Beachlover

April 23, 2020

หาดพัทยาช่วงประกาศ พรก ฉุกเฉิน [4 เม.ย.2563]

ภาพจาก: เทศกิจเมืองพัทยา https://www.facebook.com/pattayacity ในสถานการณ์ปกติหาดพัทยาจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีนและอินเดีย ช่วงเช้าของทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวต่อแถวรอคอยเรือมารับไปยังเกาะนอกชายฝั่ง ส่วนใหญ่จะเป็นเกาะล้าน และกลับมาในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ทางเดินริมชายหาดแทบไม่มีที่ให้เดินได้อย่างสะดวกนักในบางช่วงเวลาเพราะนักท่องเที่ยวต่อแถวกันรอรถ รอเรือ รอทัวร์ ภาพที่เห็นจนชินตาก็คือจะมีเหล่าผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย เข้ามารุมขายของอาหาร ผลไม้ ไอติม น้ำดื่ม ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดแนวชายหาด 2.8 กิโลเมตร นี้ ทีม Beach lover ได้ลงสำรวจชายหาดพัทยาหลายครั้งทั้งกลางวันและกลางคืน (ติดตามได้จากโพสเก่าๆ) พบว่าชายหาดแห่งนี้ไม่เคยหลับไหล มีการเปิดพื้นที่ชายหาดให้เข้าใช้ประโยชน์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเปิดไฟแสงสว่างตลอดทั้งคืน แต่จากสถานการณ์พิเศษของ COVID-19 ที่คนทั้งโลกเผชิญร่วมกันอยู่นี้ ส่งผลให้ชายหาดพัทยายามนี้เงียบสงบ ไร้ผู้คน แน่นอนว่าวิกฤตนี้รุนแรงยิ่งนักสำหรับมนุษย์ผู้ใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นรอบๆชายหาด แต่สำหรับธรรมชาติแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาทองที่จะได้ฉวยโอกาสที่มีอยู่น้อยนิดนี้ฟื้นฟูสภาพให้กลับมาสมบูรณ์ พร้อมรองรับกิจกรรมของเหล่ามนุษย์อีกครั้งและอีกครั้ง น่าสนใจอย่างมากว่า หากปราศจากกิจกรรมของมนุษย์บนชายหาด การสัญจรทางน้ำไปตามเกาะ กิจกรรมทางน้ำในรูปแบบต่างๆ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะกลับเข้าสู่สมดุลเดิมที่เคยเป็นมาในอดีตหรือไม่ หรือจะลู่เข้าสู่สมดุลใหม่ ซึ่งถ้าหากเป็นอย่างหลังนั่นแปลว่า แม้กระทั่งเราสามารถขจัดการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ออกไป ธรรมชาติก็มิอาจกลับมาเหมือนดังเช่นอดีตได้ ประเด็นที่ชวนคิดย้อนกลับก็คือ ก่อนเราจะดำเนินการใดๆที่เป็นการแทรกแซงสมดุลของธรรมชาติ ควรศึกษาถึงผลกระทบจะที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เพราะผลที่ตามมานั้น อาจเกินความสามารถของเหล่ามนุษย์ที่จะเยียวยาให้ธรรมชาติกลับมามาสภาพเหมือนดังเดิมได้ […]

Beachlover

April 4, 2020