หาดสุชาดา-แสงจันทร์-ปากน้ำระยอง … ทุกโครงสร้างชายฝั่ง พบได้ที่นี่
หลังจากการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พร้อมงานก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกมาบตาพุด ชายหาดฝั่งตะวันออกของท่าเทียบเรือก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป… การก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ ถือเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมชายฝั่งทะเล ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการคมนาคมและการค้า เพื่อให้เกิดการขยาย ตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยจะกระจายตัวไปในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนา เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลา แหลมฉบัง และมาบตาพุด ท่าเรือมาบตาพุดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นท่าเรือที่ใช้เวลาศึกษาและก่อสร้างน้อยมาก กล่าวคือ ในปี 2525 ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ในปี 2528 ทำการออกแบบด้านวิศวกรรม ในปี 2532 เริ่มการก่อสร้างท่าเรือซึ่งแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2535 และมีเรือเข้าเทียบท่าลำแรกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2535 (http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/mabtaput/mabtaput.html) ด้วยลักษณะทางสมุทรศาสตร์และสัณฐานชายฝั่ง ทิศทางการเคลื่อนตัวของตะกอนที่ขนานกับชายฝั่งทะเล (longshore sediment transport) ในบริเวณมาบตาพุดนี้ จะมีการเคลื่อนที่สุทธิจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกของท่าเทียบเรือ ตามทฤษฎีแล้ว เมื่อมีการก่อสร้างโครงสร้างชายฝั่งทะเล จะส่งผลให้กระแสน้ำชายฝั่ง (longshore current) มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คลื่นเมื่อเคลื่อนที่ปะทะโครงสร้างจะเกิดปรากฏการณ์คลื่นหักเห (refraction) เลี้ยวเบน (diffraction) และสะท้อน (reflection) ส่งผลให้ชายฝั่งทางด้านท้ายน้ำ หรือส่วนถัดไปจากโครงสร้าง เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง คาดเดาได้ไม่ยากว่า หากมีสิ่งก่อสร้างอย่างการถมทะเลและท่าเทียบเรือน้ำลึกมาบตาพุดยื่นลงไปในทะเลด้วยระยะทาง 3.5 กิโลเมตรนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับชายหาดทิศตะวันออกของท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชายหาดสุชาดาและหาดแสงจันทร์ เรื่อยยาวจากปากคลองตากวนจนถึงปากน้ำระยองระยะทางประมาณ 10.5 กิโลเมตร หลังการเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ชายหาดแถบนี้ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจำเป็นต้องดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมหลากหลายรูปแบบ อันประกอบด้วย […]