อ่างเก็บน้ำ ณ หาดสวนสน บ้านเพ ?!?

Beach Lover ได้เคยพาชมสภาพชายหาดสวนสน บ้านเพ จ.ระยอง ไปแล้วเมื่อปีก่อน ติดตามได้จาก https://beachlover.net/ปรักหักพัง-หาดสวนสน/ ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปีครึ่ง ซากปรักหักพังของพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งนี้ยังคงปรากฏชัด มีสภาพตามรูป คาดว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบได้นำซากวัสดุก่อสร้างจากที่อื่นมาถมทับพื้นที่ด้านหลังกำแพงที่เกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่จากคลื่นที่วิ่งเข้าปะทะและข้ามสันกำแพงมาก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ด้านหลัง ซากที่พบนี้ระเกะระกะและเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้เข้ามาใช้พื้นที่นี้เป็นอย่างยิ่ง พบแท่งเหล็กโผล่ออกมาหลายจุด การเดินไปมาบริเวณนี้ก็ทำได้ยากและพบเห็นอุบัติเหตุหลายรายที่เดินเหยียบแผ่นพื้นและสะดุดหกล้ม ไม่ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบคิดว่าจะดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่งยวดคือความปลอดภัยของประชาชน หากมาตรการแก้ไขกำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ อาจใช้วิธีนำเชือกมากั้นพื้นที่ไว้ก่อน หรือหากยังคิดหนทางแก้ไขไม่ได้ ควรนำซากปรักหักพังนี้ออกไปจากพื้นที่ แล้วนำดินทรายมาถมเพื่อปรับพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนจากภาพถ่ายยามทะเลสงบปราศจากคลื่นลมนี้คือ สันของกำแพงกันคลื่นแทบไม่ต่างอะไรกับสันหรือขอบของอ่างหรือสระเก็บกักน้ำเลย ยามน้ำขึ้นและชายหาดด้านหน้ากำแพงหดหายไป ดูเผินๆทะเลก็ไม่ต่างอะไรกับน้ำในอ่างเก็บน้ำ และสันของกำแพงป้องกันชายฝั่งก็แทบไม่ต่างอะไรกับสันขอบของอ่างเก็บน้ำเช่นเดียวกัน

Beachlover

December 15, 2021

ความคืบหน้า งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ณ หาดสวนสน ระยอง

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของชายหาดสวนสน จ.ระยอง ไปบ้างแล้ว ทั้งงานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได [https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ไปต่อหรือพอแค่นี้/] ความเสียหายของพื้นที่ด้านบนของกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรงที่มีอยู่เดิม [https://beachlover.net/ปรักหักพัง-หาดสวนสน/] ครั้งนี้ Beach Lover ได้ลงสำรวจพื้นที่อีกครั้งเมื่อปลายเดือน พ.ย.2563 พบว่า กำแพงกันคลื่นนี้อาจจะไม่เสร็จตามแผนที่วางไว้ในอีกไม่ถึงเดือนคือ เดือนธันวาคม 2563 พบว่าพื้นที่ทางทิศตะวันตกของแนวกำแพง โครงสร้างหลักคือขั้นบันไดนั้นสร้างเกือบเสร็จแล้ว ยังคงเหลือโครงสร้างด้านบนสุดตรงสันกำแพงและการปรับภูมิทัศน์ ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันออกของแนวกำแพงพบเพียงงานขึ้นโครงเหล็กและหล่อโครงสร้างหลักทิ้งไว้เท่านั้น สภาพโดยรวมมีคนงานทำงานอยู่ไม่มาก กำแพงกันคลื่นที่ปรากฏ ณ หาดสวนสนนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการป้องกันตลิ่งริมทะเล โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ใช้รูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได้เหมือนกับในอีกหลายๆพื้นที่ ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว และกำลังสร้างอยู่ รวมถึงที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นไปบ้างแล้ว ก็ออกมาเป็นรูปแบบเดียวกันนี้ โดยทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เคยชี้แจงเหตุผลในที่ประชุมหลายๆเวทีไว้ว่า “รูปแบบนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันชายฝั่งได้ดี หยุดการขยับของตลิ่ง ทำให้ชายฝั่งมีเสถียรภาพ สามารถลดความรุนแรงของคลื่นและลดการสะท้อนของคลื่นได้ ทำให้ลดปัญหาการคุ้ยทราย ลดการพัดพาทรายด้านหน้าหาดได้ในระดับหนึ่ง โครงสร้างได้ออกแบบให้มีความลาดชันเพียงพอต่อการให้ทรายไต่ขึ้นมาสะสมบริเวณหน้าโครงสร้างได้ นอกจากนั้น ระดับโครงสร้างถูกออกแบบให้มีความสูงเพียงพอในการป้องกันคลื่นซัดกระเซ็นข้ามสันคลื่นในฤดูมรสุมได้” หลังงานก่อสร้างแล้วเสร็จ Beach Lover จะลงสำรวจอีกครั้งและกลับมานำเสนอในโอกาสต่อไป

Beachlover

November 27, 2020

ชายหาดหดหาย ชาวประมงไร้ที่จอดเรือ

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 นายกฯและคณะได้ลงพื้นที่ จ.ระยอง และได้เดินทางมารับฟังปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านหาดบ้านเพ อ.แกลง รายละเอียดติดตามได้จาก https://tna.mcot.net/politics-516590 โดยชาวประมงได้ร้องเรียนว่าชายหาดแถบนี้สั้นลงเรื่อยๆจนจอดเรือไม่ได้โดยเฉพาะช่วงเวลาน้ำขึ้น Beach Lover ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ชายฝั่งในพื้นที่เดียวกัน เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 พบว่าพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของหาดสนสวน มีลักษณะเป็นหาดทรายยาววางแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ตั้งแต่ปากน้ำแกลงเรื่อยไปจนถึงสามแยกที่เชื่อมไปยังถนนสุขุมวิท ระยะทางตลอดแนวชายฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร ชุมชนประมงบริเวณนี้ใช้พื้นที่ชายหาดเป็นที่จอดเรือประมงขนาดเล็ก วางอุปกรณ์ประมง แล้วใช้พื้นที่ริมถนนเลียบทะเลติดกับที่จอดเรือเป็นพื้นที่วางแผงขายผลผลิตที่ได้จากการประมง เรียกได้ว่า เมื่อเอาขึ้นฝั่งก็นำมาขายกันแบบสดๆได้ทันที จากภาพพบว่า คราบน้ำขึ้นสูงสุดของวันอยู่ในระยะประมาณตำแหน่งท้ายเรือพอดี เป็นไปได้ว่าในช่วงน้ำเกิดที่พิสัยของระดับน้ำขึ้นลงสูงกว่าปกติ น้ำจะขึ้นไปสูงกว่านี้จนเรือลอย และคลื่นที่วิ่งเข้าฝั่งอาจทำให้เรือที่ลอยอยู่นั้นกระแทกกันเองและกระแทกกับขอบคอนกรีตด้านริมถนนจนเกิดความเสียหายได้ นอกจากนี้ Beach Lover ยังพบว่าทางทิศตะวันตกประชิดชุมชนประมงมีลานคอนกรีตเอนกประสงค์ยื่นลงไปบนชายหาดตามภาพ สำหรับชายหาดสวนสน พบว่าการเคลื่อนที่ของตะกอนเลียบชายฝั่งมีทิศทางจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ดังนั้นหากมีโครงสร้างบางอย่างยื่นออกมาล้ำเขตอิทธิพลของคลื่น จะเป็นการรบกวนสมดุลของกระบวนการชายฝั่งทะเลนี้ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เร่งให้ชายหาดบริเวณชุมชนประมงหาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ทางทิศตะวันตกถัดไปทางท่าเรือบ้านเพ พบว่ามีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลากหลาย ทั้งกำแพงกันคลื่นแนวดิ่ง เขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือ ซึ่งสร้างเสร็จไปนานแล้ว และกำลังก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาว 520 เมตร ที่กำลังจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 นี้ น่าวิเคราะห์กันต่อว่า ชายหาดหน้าชุมชนประมงนี้หดหายตามคำบอกเล่าของชาวบ้านไปเท่าไหร่แล้วเมื่อเทียบกับอดีต ด้วยสาเหตุใด และอะไรเป็นตัวเร่งปรากฏการณ์นี้กันแน่

Beachlover

September 13, 2020

ปรักหักพัง @ หาดสวนสน ระยอง

[ภาพเมื่อ: 6 ก.ค.2563] หาดสวนสน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจริมทะเลขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของ จ.ระยอง ด้วยความที่เป็นชายหาดสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อาหารการกินที่มีอยู่อย่างหลากหลาย หรือจะเลือกขนทุกอย่างมาปิคนิคกันริมทะเลก็เป็นภาพที่ชินตาสำหรับที่นี่ ณ ที่นี่เราจะสามารถมองเห็นเกาะเสม็ดทั้งเกาะได้อย่างเต็มตา ทางทิศตะวันตกของชายหาดคือที่เทียบเรือไปเกาะเสม็ด ที่บรรดานักท่องเที่ยวจะต้องนำรถมาจอดฝากค้างคืน เป็น hub ของการต่อรถลงเรือ รวมถึงของฝากจากทะเลนานาชนิด ด้านหน้าของท่าเรือจะพบเขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือ (Habour breakwater) ขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทำหน้าที่ป้องกันท่าเรือและพื้นที่ด้านในให้ปลอดจากคลื่นลมแรง ทำให้การขึ้นลงเรือทำได้อย่างสะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น Beach Lover ได้ลงสำรวจชายหาดสวนสนตลอดทั้งแนว พบซากปรักหักพังของพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นทางทิศตะวันตกของชายหาด คาดว่าเกิดจากคลื่น Overtop ข้ามสันกำแพงด้านหน้าขึ้นมายังพื้นที่ด้านบน เนื่องจากกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งนี้ ยามคลื่นวิ่งเข้าปะทะกำแพงจะส่งผลให้คลื่นด้านหน้ากำแพงยกตัวสูงขึ้น น้ำทะเลบางส่วนกระเซ็นข้ามสันกำแพงเข้ามายังพื้นที่ด้านใน ส่งผลให้เกิดภาพของความระเกะระกะของเศษวัสดุอย่างที่เห็น ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ซากที่พบนี้ระเกะระกะและเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้เข้ามาใช้พื้นที่นี้เป็นอย่างยิ่ง พบแท่งเหล็กโผล่ออกมาหลายจุด การเดินไปมาบริเวณนี้ก็ทำได้ยากและพบเห็นอุบัติเหตุหลายรายที่เดินเหยียบแผ่นพื้นและสะดุดหกล้ม ดีที่แท่งเหล็กที่โผล่อยู่นี้ไม่ทิ่มแทงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบคิดว่าจะดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่งยวดคือความปลอดภัยของประชาชน หากมาตรการแก้ไขกำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ อาจใช้วิธีนำเชือกมากั้นพื้นที่ไว้ก่อน หรือหากยังคิดหนทางแก้ไขไม่ได้ ควรนำซากปรักหักพังนี้ออกไปจากพื้นที่ แล้วนำดินทรายมาถมเพื่อปรับพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย เหล่านี้คือหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลสวัสดิภาพสาธารณะให้กับประชาชน … หรือเราอยู่ในรัฐ ที่ประชาชนต้องดูแลกันเอง

Beachlover

July 25, 2020