ทช.ติดตามการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง จังหวัดพังงา

ที่มา: https://web.facebook.com/DMCRTH ทช. ร่วมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ในพื้นที่บ้านท่านุ่น และบริเวณร้านน้องเปรี้ยว หาดบางเนียง จังหวัดพังงา วันที่ 2 กันยายน 2566 ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 พร้อมกันนี้ มีดร.จตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เข้าร่วมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ในพื้นที่บ้านท่านุ่น ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และบริเวณร้านน้องเปรี้ยว หาดบางเนียง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ทั้งนี้ โครงการปักไม้ไผ่ดังกล่าว เป็นความร่วมมือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพบว่ามีความสำเร็จเป็นอย่างดีที่สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเกิดการสะสมของตะกอนประมาณ 80 เซ็นติเมตร

Beachlover

September 5, 2023

ตรวจสอบชายหาดคึกคัก พบถูกคลื่นกัดเซาะประชาชนเดือดร้อน

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่๖ (พังงา) พร้อมด้วย ทสจ.พังงา เจ้าท่าภูมิภาคสาขาพังงา ตรวจสอบสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณ ต.ตึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบว่ามีลมพายุพัดคลื่นทะเลกระทบชายฝั่งอย่างรุนแรง และเกิดความเสียหายต่อชายฝั่งจริง เนื่องจากช่วงนี้ได้มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามันและอ่าวไทย ประกอบกับในบริเวณชายหาดคึกคักมีการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะกำแพงกันคลื่นริมชายหาดแบบตั้งตรง โดยเจ้าของที่ดินริมชายหาดบางราย ทำให้ส่งผลกับพื้นที่ชายฝั่งถัดไปถูกกัดเซาะเสียหายรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ จังหวัดพังงาและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้ติดตาม ดูแล เฝ้าระวังพื้นที่ชายฝั่งบริเวณดังกล่าวอยู่ตลอด โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการเสนอโครงการฟื้นฟูชายหาดคึกคักแบบบูรณาการ (จัดสร้างโดมทะเลและเสริมทรายชายหาด) ต่อ ครม.สัญจร จ.ภูเก็ต ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ แต่ขาดงบประมาณในการดำเนินการ และวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๔ จังหวัดพังงาได้เห็นชอบให้กรมเจ้าท่า ศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะสนับสนุนการท่องเที่ยวบริเวณเขาหลักถึงแหลมปะการัง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งกรมเจ้าท่าได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการตลอดจนได้งบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ ส่วนการแก้ไขระยะสั้น เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ […]

Beachlover

June 1, 2022

หาดบางเนียง พัง(งา)! ยังสบายดีไหมหลังมรสุม

หลังผ่านพ้นพายุโนอึลไปเมื่อกลางเดือนกันยายน 2563 Beach lover ได้นำเสนอปัญหากัดเซาะบริเวณหาดบางเนียงไปแล้วตามโพส https://beachlover.net/หาดบางเนียงพังงา/ หลังจากนั้นได้ทราบข่าวว่ามีความพยายามร่วมกันหารือเพื่อป้องกันชายฝั่งบริเวณนี้จากทั้งรัฐและเอกชน โดยทางเจ้าของที่ดินเองได้นำทรายด้านหน้าหาดมาถมพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะไป แต่ก็ไม่เป็นผล Beach Lover ได้มีโอกาสลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์นี้อีกครั้งช่วงสิ้นสุดมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 พบว่าพื้นที่ที่เคยถูกกัดเซาะนั้นบางส่วนยังคงสภาพเดิม บางส่วนทางเจ้าของพื้นที่ได้ทำดินมาถมเพื่อปรับพื้นที่ด้านบนให้มีพื้นที่เพียงพอที่จะประกอบกิจการต่อได้ และเมื่อระดับน้ำทะเลลดระดับลงเป็นปกติไม่สูงเหมือนช่วงมรสุมก็ส่งผลให้คลื่นซัดเข้ามาไม่ถึงพื้นที่ด้านในแล้ว เมื่อเดินถัดไปตามแนวชายฝั่งทางทิศเหนือของพื้นที่แถวๆปากคลองพบว่า พื้นที่ส่วนนี้ยังคงปกติไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะ โดยพบว่าแนวฝั่งเป็นแนวเดียวกันกับแนวกำแพงกันคลื่นเดิมทางทิศใต้ ความหมายคือ การกัดเซาะในพื้นที่นี้เป็นการกัดเซาะที่เรียกว่าเฉพาะถิ่น หรือ Local effect จากการแทรกแซงสมดุลชายฝั่งที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะในพื้นที่ ตามที่เคยได้อธิบายไว้ในโพสก่อนหน้านี้แล้วว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแทรกแซงสมดุลชายฝั่งจนส่งผลให้พื้นที่นี้ถูกกัดเซาะมากขึ้นกว่าปกติในรูปแบบที่ผิดธรรมชาติ (โค้งเว้า) ก็เพราะกำแพงกันคลื่นที่อยู่ทางทิศใต้นั่นเอง (ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกำแพงกันคลื่น https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ไปต่อหรือพอแค่นี้/ และ https://beachlover.net/seawall/) เป็นความจริงที่ว่าในอดีตกำแพงกันคลื่นบนพื้นที่เอกชนแห่งนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งเข้ามาประมาณหนึ่ง ไม่ถึงกับประชิดน้ำทะเลมาก แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงของทั้งคลื่นลม ระดับน้ำทะเล ประกอบกับปราการทางธรรมชาติเพื่อช่วยป้องกันคลื่นสำหรับชายหาดแถบนี้อย่างแนวโขดหินใต้น้ำและปะการังธรรมชาติได้ถูกทำลายไปในช่วง Tsunami 2004 ส่งผลให้ชายหาดโดยภาพรวมของพังงาเริ่มกัดเซาะมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเป็นเหตุให้กำแพงกันคลื่นของเอกชนที่สร้างทางทิศใต้ของพื้นที่เข้ามาอยู่ในระยะประชิดน้ำทะเลมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้กำแพงนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรบกวนการเคลื่อนที่ของคลื่นและตะกอนชายฝั่ง จึงเป็นเหตุให้พื้นที่ทางทิศเหนือของกำแพงเกิดการกัดเซาะในลักษณะโค้งเว้าจากการเลี้ยวเบนของคลื่นตามที่เห็น มาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบของรัฐจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ระหว่างนี้ปัญหาเฉพาะหน้ายามมรสุมเป็นสิ่งที่รัฐควรคำนึงถึงเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ริมชายหาด

Beachlover

January 7, 2021

หาดบางเนียงพัง(งา)!

Beach Lover ได้ลงสำรวจชายหาดบางเนียง จ.พังงา ในช่วงที่พายุโนอึลเข้าประเทศไทยพอดี แม้ว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันด้วย ตามปกติแล้ว ทะเลแถบนี้จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ระหว่าง พ.ค.-ต.ค. ของทุกปี แต่เมื่อมีของแถมคือพายุโนอึลเข้ามาเสริม ก็ยิ่งส่งผลให้คลื่นลมในช่วงมรสุมนี้ทวีกำลังแรงขึ้นอีก ชายหาดบางเนียง จ.พังงา เป็นหนึ่งในชายหาดเลื่องชื่อแห่งหนึ่งของพังงา ที่มักจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แม้จะไม่มีสนามบินและระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกนักจากจังหวัดใกล้เคียง แต่นักท่องเที่ยวยังนิยมมาเที่ยวทะเลแถบนี้ ด้วยชายหาดกว้างและยาว ที่ยังคงความสมบูรณ์ ความดิบๆของหาดที่ยังไม่ได้ถูกปรุงแต่งมากนัก เรามักเห็นนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักรักสงบ ที่หลีกหนีความวุ่ยวายของเกาะภูเก็ตนิยมมาพักผ่อนที่นี่ โรงแรมที่พักที่ติดชายหาดแถบนี้มักมีความหรูหราราคาแพง และเบ็ดเสร็จในตัว เรียกได้ว่าเข้าที่พักแล้วไม่จำเป็นต้องออกไปไหนก็มีบริการเกือบทุกสิ่งอย่างสะดวกสบาย พบว่าด้านหน้าชายหาดของที่พักส่วนตัวและรีสอร์ทเกือบทุกแห่งแถบนี้ มีการป้องกันพื้นที่ตนเองโดยการสร้างกำแพงกันคลื่นเกือบตลอดแนวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ทั้งกำแพงคอนกรีตแบบแนวดิ่ง แบบลาดเอียง แบบหินเรียง แบบหินทิ้ง กระสอบทราย ท่อซีเมนต์ เสาคอนกรีต และอีกหลายรูปแบบที่ดูเหมือนจะจมลงไปอยู่ใต้ทรายบ้างแล้วตามร่องรอยที่ปรากฏ โดยจากหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth พบว่า ได้มีการสร้างกำแพงกันคลื่นริมทะเลในบริเวณนี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2014 แล้วเกือบตลอดทั้งแนว Beach Lover ได้เคยนำเสนอข่าวในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ว่าชายหาดแถบนี้เสียหายจาก “พายุโพดุล” ติดตามได้จาก https://beachlover.net/ทะเลอันดามันคลื่นลมแรง/ ปีนี้ก็เช่นกัน “พายุโนอึล” ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนเหนือของชายหาดบางเนียงเสียหายตามที่ปรากฏในภาพ พื้นที่ที่ถูกกัดเซาะอย่างหนักนี้อยู่ทางทิศเหนือถัดจากปลายกำแพงกันคลื่นด้านหน้าบ้านพักริมทะเลแห่งหนึ่ง […]

Beachlover

September 24, 2020

ทางลงหาดบางเนียง สะดวกสบายแค่ไหน พามาชม

ทางสาธารณะลงชายหาดเป็นสิ่งที่ควรมีทุกชายหาด เพื่อการันตีการเข้าถึงชายหาดอย่างเท่าเทียมของทุกคน ไม่ว่าจะพัก ณ โรงแรมติดหน้าหาดหรือไม่ก็ตาม ประชาชนควรมีสิทธิเข้าถึงชายหาดซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะได้อย่างสะดวกและเท่าเทียม Beach Lover พามาชมทางสาธารณะลงชายหาดบางเนียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชายหาดเขาหลัก จ.พังงา โดยส่วนใหญ่แล้วชายหาดแถบนี้จะเป็นที่ตั้งของโรงแรมขนาดใหญ่ และส่วนมากหรูหราราคาแพง ที่พักราคาย่อมเยาจะอยู่ไกลจากชายหาดมาระยะหนึ่ง การมีทางลงหาดสาธารณะถือเป็นเรื่องดีเพื่อให้ประชาชนได้ชมได้เข้าถึงชายหาดที่สวยงามแห่งนี้ได้ไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่ยอมจ่ายเพื่อเข้าพัก ณ โรงแรมหรูหราริมชายหาด แม้จะเป็นเรื่องดีๆ แต่ทางลงหาดสาธารณะก็ควรถูกจัดการให้ดี สามารถเข้าถึงขึ้นลงชายหาดได้อย่างปลอดภัย แต่จากการสำรวจของ Beach Lover พบทางลงชายหาดแห่งนี้เต็มไปด้วยซากก้อนหินระเกะระกะ ท่อซีเมนต์ ที่ดูเหมือนนำมาทิ้งขว้างไม่ได้ตั้งใจวางหรือจัดการให้ดี การขึ้นลงต้องปีนป่าย หากเป็นผู้สูงอายุคงต้องเลิกคิดและหันหลังกลับเป็นแน่ เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นที่รับผิดชอบต้องร่วมกันแก้ไข เอาใจใส่กันหน่อย เพื่อสวัสดิภาพสาธารณะของผู้ใช้ชายหาดอย่างเท่าเทียม

Beachlover

September 19, 2020