ระเนระนาด @ หาดแก้ว ชิงโค

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของหาดชิงโค หรือหาดแก้ว ไปหลายต่อหลายครั้ง ติดตามบางส่วนได้จาก https://beachlover.net/หาดคอนกรีต-ชิงโค/ โดยได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับงานปรับภูมิทัศน์และงานป้องกันชายฝั่งบริเวณนี้ไว้หลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นนี้จากคลื่นซัดข้ามสันกำแพง ในช่วงเดือนเมษายน 2565 ได้มีการนำเสนอภาพความเสียหายของพื้นที่ด้านหลังโครงสร้าง จากการที่คลื่นซัดข้ามสันกำแพง (https://www.facebook.com/Watchdog.ACT) ดังที่ Beach Lover ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อครั้งงานก่อสร้างเสร็จหมาดๆเมื่อสองปีก่อน Beach Lover ได้มีโอกาสสำรวจภาคสนามพื้นที่บริเวณนี้อีกครั้ง พบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น เกิดขึ้นจากการที่คลื่นวิ่งเข้าปะทะกำแพงแล้วยกตัวสูงขึ้นกระเซ็นข้ามสันกำแพงเข้ามายังพื้นที่ด้านหลังที่มีการปรับภูมิทัศน์เป็นทางจักรยาน ทางเดินริมชายหาด โดยพบว่าระบบระบายน้ำด้านหลังกำแพงนั้นพังเสียหายเกือบทั้งหมด ทางเดินและทางจักรยานทรุดเป็นช่วงๆ แผ่นพื้นหลุดล่อนออก พบทรายจำนวนมากที่ถูกคลื่นหอบเข้ามาทับถมพื้นที่ด้านหลัง ยิ่งซ้ำเดิมระบบระบายน้ำให้เกิดปัญหาหนักขึ้นไปอีก พบเศษวัสดุและหินที่ใช้ก่อสร้างระเกะระกะเป็นจำนวนมาก โดยรวมแล้วแทบไม่เหลือเค้าลางเดิมของพื้นที่ที่ถูกปรับภูมิทัศน์ด้านหลังกำแพง ตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นทางจักรยานที่ทรุดตัวลงเมื่อครั้ง Beach Lover ลงมาสำรวจในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นั้น บัดนี้ไม่หลงเหลือซากเดิมปรากฏให้เห็นแล้ว มีท้องถิ่นริมชายฝั่งทะเลจำนวนไม่น้อยที่คิด (เอาเอง)ว่า การ “แปลงร่างหาดทรายให้กลายเป็นคอนกรีต” โดยการ “ขลิบ”ชายหาดด้วยกำแพงกันคลื่นพร้อมการปรับภูมิทัศน์นั้น จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้ จะสามารถนำรายได้กลับคืนมาสู่ท้องถิ่น โดยอาจหลงลืมไปว่า มีราคาที่ต้องจ่ายมากมายกับความพยายามนี้ น่าตามต่อถึง Action ของกรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเจ้าของโครงการ ว่าจะให้เหตุผลและจัดการกับความเสียหายนี้อย่างไร และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือหน่วยงานท้องถิ่นที่จะรับมอบโครงสร้างนี้ไปบำรุงรักษาด้วยงบของท้องถิ่นเอง ว่าจะมี Action […]

Beachlover

May 22, 2022

กัดเซาะหนักชายหาดสงขลา บริเวณเขื่อนกันคลื่นหาดแก้ว

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH/ วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๕ กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่๕ (สงขลา) สำรวจ และติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณหาดแก้ว อ.สิงหนคร จ.สงขลา ผลการสำรวจพบการกัดเซาะต่อเนื่องจากจุดสิ้นสุดโครงสร้างด้านทิศเหนือ ตามแนวชายฝั่งระยะทางประมาณ ๒๐๔ เมตร และกัดเซาะลึกเข้าในแผ่นดิน ระยะทางประมาณ ๓๘ เมตร สาเหตุอาจเกิดจากคลื่นลมตามช่วงมรสุม โดยส่งผลกระทบทำให้ต้นสนล้มหลายต้น และที่พักอาศัย/เพิงพักสำหรับชาวประมงชายฝั่งพังเสียหาย และพบมีเศษหิน และกรวด บริเวณชายหาดจำนวนมาก ซึ่งอาจมาจากการผุพังแตกหักของก้อนหินที่ยังคงหลงเหลืออยู่หน้าบริเวณโครงสร้าง ทำให้ชายหาดเสียหายขาดความสวยงาม และเปลี่ยนสภาพจากหาดทรายเป็นหาดหินและกรวด อีกทั้งยังพบการชำรุดของลานอเนกประสงค์จากการกัดเซาะของน้ำทะเลอีกด้วย

Beachlover

January 8, 2022

เกิดอะไรขึ้น ณ ปลายสุดหาดกำแพง ชิงโค

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของหาดทรายแก้ว-ชิงโค ไปแล้วหลายครั้ง ติดตามได้จาก https://beachlover.net/หาดคอนกรีต-ชิงโค/ ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปีนี้ Beach Lover ขอพาไปชมโครงการนี้อีกครั้ง ณ ปลายสุดทางทิศเหนือของกำแพงกันคลื่นระยะที่ 4 ซึ่งมีระยะทาง 801 เมตร งบประมาณ 90 ล้านบาท (จากทั้งหมด 4 ระยะ งบประมาณรวม 375.5 ล้านบาท ระยะทางรวมทั้งสิ้น 2.617 กิโลเมตร) โดยครั้งนี้โครงสร้างหลักทั้งหมดได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงการปรับภูมิทัศน์เท่านั้น จากสภาพที่เห็นพบว่า เกิดความชำรุดเสียหายของเลนจักรยานสีฟ้า กล่าวคือมีการแตกร้าวและทรุดตัว ส่วนพื้นที่ด้านหลังกำแพงนั้น คลื่นได้ปะทะและข้ามสันกำแพงโดยนำตะกอนทรายและขยะมาทับถมจำนวนมาก เมื่อสังเกตด้านท้ายน้ำของโครงสร้างกำแพงกันคลื่น หรือทางด้านทิศเหนือพบว่า มีร่องรอยของการกัดเซาะให้เห็นชัดเจนมากกว่าเมื่อครั้งก่อนๆ รวมถึงครั้งล่าสุเมื่อ ตุลาคม 2564 ที่ Beach Lover ได้ทำการบันทึกภาพมุมสูงเอาไว้ ซากของเสาไม้ที่ปักอยู่นี้ คือมาตรการลดผลกระทบด้านท้ายน้ำที่อาจเกิดจากโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบคอนกรีตทางทิศใต้ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเจ้าของโครงการทดลองดำเนินการเป็นที่แรก โดยได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีแบบก่อสร้างเป็นรูปโค้งรับหน้าคลื่น และมีการปักเป็นแถวเสริมด้านหน้ากำแพงด้วยตามแบบ เมื่อตรวจสอบกับภาพมุมสูงที่ Beach Lover ได้เคยบันทึกเอาไว้เมื่อ […]

Beachlover

December 17, 2021

ดูกันชัดๆ กัดเซาะ “ชั่วคราว” หรือ “ชั่วโคตร”

Beach Lover ได้เคยนำเสนอประเด็นกัดเซาะชั่วคราวและชั่วโคตรไปแล้ว ติดตามได้จากโพส https://beachlover.net/ชายหาดกัดเซาะแบบไหน/ มาครั้งนี้ ขอนำเสนอภาพถ่ายเพื่อย้ำเตือนประเด็นนี้กันอีกรอบ ณ ชายหาดม่วงงาม หาดแก้ว บ่ออิฐ และหาดชิงโค จ.สงขลา “กัดเซาะชั่วคราว” หรือการเสียสมดุลของชายหาดแบบชั่วคราว ภาพด้านซ้ายมือของชายหาดม่วงงาม ณ ตำแหน่งเดียวกัน เพียงแต่ต่างช่วงเวลากัน แสดงให้เห็นว่า ชายหาดมีความเป็นพลวัต ยามมรสุมชายหาดอาจถูกกัดเซาะไปบ้าง คลื่นขนาดใหญ่วิ่งเข้ามาทักทายถนนให้ชำรุดไปบ้าง แต่ยามปลอดมรสุม คลื่นขนาดเล็กจะหอบเอาทรายขึ้นมาเติมจนเต็ม พืชขึ้นปกคลุมชายหาด ชายหาดกลับมาเสถียรและสมบูรณ์อีกครั้ง ตราบเท่าที่ไม่มีการแทรกแซงสมดุลของชายฝั่งตามธรรมชาติ “กัดเซาะชั่วโคตร” หรือการเสียสมดุลของชายหาดแบบถาวร ภาพด้านขวาของหาดชิงโค บ่ออิฐ และหน้าโรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท แสดงให้เห็นถึงการกัดเซาะในรูปแบบที่หาดถูกกัดเซาะแบบกัดแล้วไม่คืนสมดุลเดิม ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหนก็ตาม โดยการกัดเซาะลักษณะนี้มักเกิดขึ้นบริเวณที่มีการแทรกแซงสมดุลชายฝั่งจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งในที่นี้คือการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทางทิศใต้ของทั้งสามพื้นที่ ส่งผลให้ชายหาดด้านทิศเหนือเสียสมดุลและเกิดการกัดเซาะอย่างถาวร “กัดเซาะชั่วคราว” อาจเปลี่ยนเป็น “กัดเซาะชั่วโคตร” ได้เมื่อมีการแทรกแซงสมดุลของชายฝั่งตามธรรมชาติ เป็นต้นว่า การสร้างโครงสร้างในทะเลหรือริมทะเล ที่กีดขวางการเคลื่อนตัวของคลื่นกระแสน้ำและตะกอนชายฝั่ง เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ชายหาดที่เคย “กัดเซาะชั่วคราว” เปลี่ยนเป็น “กัดเซาะชั่วโคตร” แบบที่มิอาจหวนกลับคืนได้ตราบเท่าที่ปัจจัยแทรกแซงนั้นยังคงดำรงอยู่

Beachlover

January 8, 2021

ภาพเปรียบเทียบวันเวลาเดียวกัน ของชายหาด”มี”และ”ไม่มีโครงสร้าง”

ที่มา: https://www.facebook.com/Beachforlife.BFL/ วันที่ 1 มกราคม 2564 หาดทรายเเก้ว-ชิงโค จ.สงขลา โดยภาพแรก ถ่าย ณ ตำเเหน่งที่มีกำเเพงกันคลื่น เเละภาพที่สองถ่าย ณ ตำแหน่งที่ไม่มีกำเเพงกันคลื่น ภาพที่ 1 หาดที่มีกำเเพงกันคลื่น คลื่นปะทะข้ามกำเเพงกันคลื่นเข้ามา พื้นที่ด้านหลังกำเเพงกันคลื่น น้ำทะเลท่วมขัง ไอน้ำทะเลฟุ้งกระจายเต็มพื้นที่ ภาพที่ 2 เป็นสุดสิ้นสุดกำเเพงกันคลื่น ยังคงมีชายหาดอยู่ หาดทรายค่อยๆซับพลังงานคลื่น

Beachlover

January 2, 2021

ติดตามโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลสงขลา

ที่มา: Facebook page กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนล่าง ติดตามสภาพระบบนิเวศชายหาดและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหาดทรายบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล หาดทรายแก้ว หาดม่วงงาม และหาดมหาราช จ.สงขลา ผลการตรวจสอบที่หาดทรายแก้วยังคงพบเศษหินจากการก่อสร้างถูกทับถมอยู่ใต้ชั้นผิวทรายลึกลงไป ๑๕ ซม. ชั้นเศษหินมีความหนาประมาณ ๑๒ ซม. และพบสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหาดทรายน้อยมาก ส่วนพื้นที่หาดม่วงงาม บริเวณหน้าหาดเริ่มมีตะกอนทรายธรรมชาติถูกคลื่นซัดมาทับถมตลอดแนว และจากการเก็บตะกอนดินโดยใช้ท่อเจาะมาวิเคราะห์ไม่พบเศษหินจากการก่อสร้างแต่สภาพชายหาดทั่วไปยังพบเศษวัสดุก่อสร้างเป็นระยะๆ (เหล็กเสาเข็ม) ส่วนพื้นที่ชายฝั่งในทะเลก็ยังมีกองหินจากการก่อสร้างจมอยู่ใต้น้ำ และเริ่มจะพบจำนวนสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหาดทราย แสดงถึงการเริ่มคืนสภาพระบบนิเวศหาดทรายหลังจากถูกระงับการก่อสร้าง ส่วนพื้นที่ชายหาดมหาราช ยังคงมีงานก่อสร้าง แม้จะไม่พบเศษหินจากการก่อสร้างปนเปื้อนในระบบนิเวศหาดทรายในพื้นที่ข้างเคียง แต่พบสิ่งมีชีวิตได้น้อยมาก

Beachlover

November 29, 2020

เตรียมตัวให้พร้อมกับแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ชายหาด(คอนกรีต)ชิงโค สงขลา

[ภาพเมื่อ มิ.ย.2563] Beach Lover  ได้นำเสนอเรื่องราวของชายหาดชิงโค จ.สงขลา ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว สามารถติดตามได้จากโพส [ https://beachlover.net/หาดหน้าโรงแรมหาดแก้ว/ และ https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-3-พื้นที่/] หากใครนั่งเครื่องบินแถว K(ขวาของลำ) แล้วมองลงมาในช่วงที่เครื่องบินกำลังจะหันหัวเปลี่ยนทิศทางเพื่อลงจอดที่สนามบินหาดใหญ่ บริเวณปากทะเลสาบสงขลา จะเห็นเส้นสีฟ้าๆอย่างชัดเจนจากกระจกเครื่องบิน เส้นสีฟ้าที่เห็นเด่นชัดจากระยะไกลนี้ แท้จริงแล้วคือทางจักรยานริมกำแพงกันคลื่นแห่งใหม่เลียบชายหาดชิงโค คาดว่าท้องถิ่นตั้งใจจะโปรโมทพื้นที่แถบนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สังเกตว่านอกจากกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่งที่ดูมั่นคงแข็งแรงและอยู่ไปได้ชั่วโคตรแล้ว ยังมีลานจอดรถ ทางเดินบนสันกำแพงและทางจักรยาน โครงการนี้ประกอบด้วยสามเฟส ขณะนี้ (ก.ค.2563)ยังไม่แล้วเสร็จ กำลังก่อสร้างในเฟสที่สาม ระยะทาง 990 เมตรด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 109.6 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2564 รวม 18.293 ล้านบาท คาดเดาได้ไม่ยากว่า พื้นที่ถัดไปจากปลายกำแพงเมื่อแล้วเสร็จจะเกิดการกัดเซาะตามมา เป็นภาพฉายวนซ้ำเช่นเดียวกันกับจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนี้ ก็เกิดจากผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงทางทิศใต้เช่นเดียวกัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก https://beachlover.net/หาดหน้าโรงแรมหาดแก้ว/) มีท้องถิ่นริมทะเลจำนวนไม่น้อยที่คิด (เอาเอง)ว่า การ “แปลงร่างหาดทรายให้กลายเป็นคอนกรีต” โดยการ “ขลิบ”ชายหาดด้วยกำแพงกันคลื่นพร้อมการปรับภูมิทัศน์นั้น จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้ จะสามารถนำรายได้กลับคืนมาสู่ท้องถิ่น ท้องถิ่นอาจอ้างว่า มิอาจปล่อยปละละเลยกับความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น (จากกำแพงกันคลื่น) ได้ […]

Beachlover

July 20, 2020