ดูราโฮลด์ ณ หาดกะรน ที่สร้างไม่จบ!

หาดกะรน ต้ังอยู่บริเวณอำเภอเมืองของจังหวัดภูเก็ต มีความยาวประมาณ 3.3 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่ยาวที่สุดในเกาะภูเก็ต ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างมาก เพราะมีหาดทรายขาวละเอียด ทัศนียภาพสวยงาม มีถนนเลียบแนวชายหาด มีต้นไม้และสันทรายชายหาดที่สมบูรณ์ ช่วยเพิ่มความสวยงามเป็นอย่างมาก ทางทิศเหนือของหาดกะรน มีการสร้างกำแพงที่เรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า “ดูราโฮลด์” (https://commercial.unilock.com/products/a-z-products/all/durahold/?region=1) อันที่จริงแล้วมิใช่โครงสร้างที่สมควรนำมาใช้เพื่อป้องกันชายฝั่ง เนื่องจากมิได้ผ่านการออกแบบเพื่อทำหน้าที่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นเพียงกำแพงกันดินเคลื่อนตัวเท่านั้น เราจึงมักพบเห็นโครงสร้างแบบดูราโฮลด์นี้ตามงานก่อสร้างในพื้นที่อื่นๆบนบก บนเขา มิใช่ริมทะเล กระนั้นก็ตาม มีการนำโครงสร้างกำแพงกันดินแบบดูราโฮลด์นี้มาใช้เพื่อกันคลื่นในหลายพื้นที่ ส่วนมากใช้เพื่อกันเขตพื้นที่เอกชน เนื่องจากราคาไม่แพงและก่อสร้างได้ง่าย ตัวอย่างเช่นรีสอร์ทบนเกาะยาวใหญ่ที่ Beach Lover เคยพาไปชมแล้วตาม Link นี้ https://beachlover.net/เกาะยาวใหญ่ก็มีกำแพงกันคลื่นนะ/ “ดูราโฮลด์” นี้เริ่มสร้างในช่วงปี 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์และสาธารณูปโภคบริเวณหนองหาน และเป็นการป้องกันดินในพื้นที่ไหลลงสู่ทะเลโครงสร้างมีความยาวทั้งหมด 470 เมตร หลังจากเริ่มก่อสร้างไปแล้วประมาณ 280 เมตร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เสนอความเห็นว่าไม่ควรก่อสร้างเพราะบริเวณนี้เป็นหาดสมดุล (https://news.thaipbs.or.th/content/275856) และนำมาสู่การระงับโครงการนี้ไปในที่สุด (https://www.phuketprice.com/เบรกสร้างเขื่อนดูรา-โฮ/) Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจ “ดูราโฮลด์” นี้ในเดือนมีนาคม 2565 ยังไม่ปรากฏร่องรอยว่าคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะ “ดูราโฮลด์” […]

Beachlover

April 11, 2022

กำแพงและทางระบายน้ำลงหาดกะรน จ.ภูเก็ต [20ม.ค.2563]

หาดกะรนเป็นชายหาดที่ยาวที่สุดของเกาะภูเก็ต ทอดยาวประมาณ 3.3 กิโลเมตร ในแนวเหนือใต้ กล่าวกันว่าทรายที่หาดนี้ละเอียดนุ่มเท้าที่สุดบนเกาะภูเก็ต และแทบไม่มีเปลือกหอยปะปนเลย ทางทิศเหนือของชายหาดเป็นสวนสาธารณะ ที่จอดรถ ถนนสาธารณะ และโรงแรม พื้นที่ส่วนนี้เองที่ปรากฏให้เห็นถึงโครงสร้างกำแพง ยาวประมาณ 450 เมตร สูงประมาณ 1.2 เมตร ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นกำแพงกันดินหรือกำแพงกันคลื่น ชาวบ้านแถวนั้นเล่าให้ฟังว่า ช่วงมรสุมที่ระดับน้ำทะเลสูงกว่ายามปกติ คลื่นจะวิ่งจนถึงตัวกำแพงซึ่งอยู่ห่างจากระดับน้ำวันนี้ประมาณ 50 เมตร ปัจจุบันยังไม่พบร่องรอยของผลกระทบที่เกิดจากกำแพงนี้ สุดปลายกำแพงทางทิศเหนือ พบทางระบายน้ำออกสู่ทะเล ไม่แน่ใจว่าเป็นทางระบายน้ำจากลำรางสาธารณะหรือไหลมาจากแหล่งใด แต่มีสีและกลิ่นไม่ดีนัก ทางออกสู่ทะเลได้ตัดให้ชายหาดแยกออกจากกัน สามารถเดินข้ามได้เฉพาะริมทะเลเท่านั้น มีหลายชายหาดที่ทางระบายน้ำลงทะเลส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ การใช้ประโยชน์บนชายหาด ตลอดจนมลพิษที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเล เป็นเรื่องน่าคิดว่า เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยให้ไหลลงทะเลตามยถากรรมแบบที่ผ่านมา

Beachlover

January 20, 2020