มติเอกฉันท์ ผลประชาคมไม่เอากำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม
ที่มา: https://dxc.thaipbs.or.th/news/มตเอกฉนท-ผลประชาคมช/ เทศบาลเมืองม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จัดเวทีประชาคมประชาชนในพื้นที่ชายหาดม่วงงาม เพื่อแสดงความคิดเห็นลงมตินำรายชื่อไปยื่นต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อประกอบการยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม จ.สงขลา หลังจากเกิดความขัดแย้งมาตลอดระยะ 2 ปี กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชะลอโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อให้เทศบาลเมืองม่วงงาม ดำเนินการสอบถามกรมโยธาธิการและผังเมือง จนได้ข้อสรุปว่าการยกเลิกโครงการฯ ต้องมีการจัดทำประชาคมเพื่อประกอบการยกเลิกโครงการโดยให้ท้องถิ่นรวบรวมผลการทำประชาคม และนำส่งให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อประกอบการยกเลิกโครงการต่อไป จึงนำมาสู่การจัดเวทีประชาคมในวันนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 328 คน ผลการทำประชาคม พบว่า มีชาวบ้าน 4 คน เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม และ 324 คน ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ โดยมีการลงชื่อประชาชนที่เข้าร่วมเวทีทุกคน และมีการนับคะแนนต่อหน้าประชาชนที่มาร่วมประชาคม ซึ่งหลังจากนี้เทศบาลเมืองม่วงงาม จะนำผลการทำประชาคมครั้งนี้ เสนอต่อกรมโยธาธิการพร้อมกับเหตุผลในการขอยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามต่อไป นายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Beach for life กลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์การลุกขึ้นมา #saveหาดทราย จากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีนี้ ระบุว่า หากนับการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ผ่านมาของกรมโยธาฯในโครงการหาดม่วงงาม เมื่อปี พ.ศ.2561 มีชาวบ้านเข้าร่วมเพียงไม่ถึง200 คน โดยในสัดส่วนเหล่านั้นพบเกือบครึ่งเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เเละครู ทำให้ผลสรุปในอดีตนำไปสู่การดำเนินโครงการกำเเพงกันคลื่นหาดม่วงงาม จนทำให้เป็นเหตุผลที่กรมโยธาธิการและผังเมืองอ้างว่าในอดีตชาวบ้านมีการร้องขอกำแพงกันคลื่นผ่านหน่วยงานท้องถิ่น จึงไม่ยอมถอนโครงการ “วันนี้ประชาชนม่วงงามที่เป็นคนม่วงงามจริง ๆ 324 คน ได้มาเเสดงพลัง ลงชื่อทำประชาคม เเละผลสรุปเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เอาโครงการกำเเพงกันคลื่นหาดม่วงงาม จึงนับเป็นความชัดเจนว่าสิ่งที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเคยนำมาอ้างไม่เป็นความจริง ซึ่งเป็นการสะท้อนพลังของภาคประชาชนและยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าภาคประชาชนเกิดการตื่นรู้ต่อถึงผลกระทบของกำแพงกันคลื่นที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศริมชายหาด” นายอภิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเดินหน้าดึงดันโครงการนี้ต่อไปหรือไม่เพราะโครงการฯ ถือว่าไม่มีความชอบธรรมทั้งในเชิงข้อเท็จจริงทางวิชาการที่ปรากฏชัดว่าสภาพของชายหาดไม่ได้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง และประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้ยินยอมแต่อย่างใด