งานขุดลอกปากร่องน้ำบางสะพาน

[ภาพเมื่อ: 17 ส.ค. 2563] งานขุดลอกปากร่องน้ำริมทะเลถือเป็นภารกิจสำคัญของกรมเจ้าท่าเพื่อการดูแลร่องน้ำเดินเรือทั่วประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน Beach lover ได้ลงสำรวจพื้นที่ปากคลองบางสะพาน ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ พบงานขุดลอกปากร่องน้ำภายในระยะเวลา 60 วัน รวมปริมาตรทราย 50,000 ลบ.ม. โดยไม่มีรายละเอียดของงบประมาณ รวมถึงวันที่เริ่มและสิ้นสุดการดำเนินงาน การที่ตะกอนทรายไหลมาปิดปากร่องน้ำจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งมักเกิดขึ้นเฉพาะบางฤดูกาล แล้วปากแม่น้ำก็จะกลับมาเปิดเองตามกระบวนการทางธรรมชาติ ในอดีตกรมเจ้าท่าใช้วิธีการขุดลอกปากร่องน้ำแบบที่เห็นในภาพนี้กับทุกปากร่องน้ำที่เกิดปัญหา ระยะต่อมา กรมเจ้าท่าได้สร้างโครงสร้างป้องกันปากร่องน้ำที่เรียกว่า เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) บริเวณร่องน้ำชายทะเลหลายแห่ง เพื่อบรรเทาปัญหาทรายปิดปากร่อง กระนั้นก็ตาม ตัวโครงสร้าง Jetty นี้ ได้ส่งผลกระทบให้พื้นที่ถัดๆไปเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากโพสเก่าๆหมวดสถานการณ์ฯ และคดีชายหาดสะกอม) เป็นเรื่องน่าคิดต่อ ว่าคุ้มกันหรือไม่ หากกรมเจ้าท่ากลับมาใช้วิธีการขุดลอกแบบเดิมทดแทนการสร้าง Jetty ซึ่งก็จะไม่ส่งผลให้ชายหาดในพื้นที่ถัดไปเกิดการกัดเซาะจนเป็นเหตุให้ต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายหาดต่อไปเรื่อยๆ หรือเราควรสร้าง Jetty ปริเวณปากร่องน้ำชายทะเลทั่วประเทศเพื่อลดภาระการขุดลอกร่องน้ำของกรมเจ้าท่า โดยยอมแลกกับความพังพินาศของชายหาดข้างเคียง

Beachlover

August 18, 2020

ไทยแลนด์ ริเวียร่า @ ประจวบคีรีขันธ์

ประจวบคีรีขันธ์เป็น 1 ใน 23 จังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลที่ยาวที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศไทย จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่ามีความยาวประมาณ 247 กิโลเมตร ประจวบฯ ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดชายทะเลภายใต้โครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า (Thailand Riviera) หรือ การพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล เพื่อยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลเพื่อการพักผ่อนระดับโลก อย่างเช่น French Riviera ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลยุค คสช จนถึงรัฐบาลยุคนี้ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาถนนเลียบชายหาด จ.ประจวบคีรีขันธ์  Beach Lover พบโครงสร้างกำแพงกันคลื่นรูปแบบต่างๆเกือบตลอดแนวชายหาดที่มีชื่อเสียงของประจวบคีรีขันธ์ หลายแห่งไม่เคยมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความมั่นคงของถนนเลียบชายหาด และยังพบโครงการที่กำลังก่อสร้างและซ่อมแซมเพิ่มอยู่อีกหลายแห่ง ชายหาดแบบนี้เองหรือ ที่รัฐรู้สึกว่าสวย? ชายหาดแบบนี้ใช่ไหม ที่เหมือน French Riviera ? ชายหาดแบบนี้หรือ ที่ทำเพื่อดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว ? นี่อาจจะหมายถึง “ความเรียบร้อย” “ความเป็นระเบียบ” “ความมั่นคง” ของชายหาด ตามคำนิยามของหลายๆหน่วยงาน  หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ปรับเปลี่ยนมุมมองเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ เราอาจได้ชายหาดที่ “ถูกขลิบ” ตลอดแนวสามพันกว่ากิโลเมตร เมื่อถึงเวลานั้น ภาพหาดทรายที่เราถ่ายเก็บไว้ในยุคสมัยนี้ อาจกลายเป็นเพียงความทรงจำที่มิอาจย้อนคืนได้ สุดท้ายเราอาจได้ถนนที่มั่นคงแข็งแรงเลียบประชิดฝั่ง …. แต่อาจสูญสิ้นหาดทรายธรรมชาติอย่างถาวร

Beachlover

August 5, 2020

ระเนระนาด @ หาดคลองวาฬ ประจวบฯ

[ภาพเมื่อ มิ.ย.2563] Beach lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชายหาดคลองวาฬไว้แล้วใน https://beachlover.net/คดีคลองวาฬ/ รวมถึง E-Book โดยหาอ่านและ Download ได้ฟรีจาก https://beachlover.net/การฟ้องคดีปกครอง/ ในครั้งนี้ Beach Lover ได้มีโอกาสสำรวจชายหาดคลองวาฬตลอดทั้งแนวชายหาดตั้งแต่ปากคลองจนถึงท่าเทียบเรือ ระยะทางประมาณ 1.6 กิโลเมตร พบการพังทลายของโครงสร้างป้องกันชายฝั่งในหลายตำแหน่ง เริ่มจากกำแพงกันคลื่นตอนเหนือของหาดใกล้ปากคลอง แผ่นพื้นหลุดล่อนออก ทั้งที่บริเวณนี้ค่อยข้างปลอดภัยจากคลื่นลม เพราะมีโครงสร้างป้องกันอยู่ด้านนอกแล้วหนึ่งชั้น ต่อมาทางทิศใต้ พบกองหินขนาดเล็กและใหญ่กระจายตัวกันอย่างระเกะระกะ รวมถึงซากของแผ่นพื้น เสาเข็ม และเศษวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก ที่อาจเคยเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งเดิม หรือไม่ก็ขนถ่ายมาเททิ้งไว้ที่นี่เพื่อป้องกันชายฝั่ง (ส่วนนี้ไม่มีข้อมูล) หาดแห่งนี้มีเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งของกรมเจ้าท่าถึงสองชั้น ประกอบด้วยแบบหินทิ้งจำนวน 11 ตัว ความยาวตัวละ 50 ม. จำนวน 5 ตัว และยาวตัวละ 100 ม. จำนวน 6 ตัว ตลอดแนวชายฝั่งยาวประมาณ 1.3 ก.ม. สร้างเมื่อปี 2548 กระนั้นก็ตามพื้นที่ด้านในก็ยังคงถูกกัดเซาะ เอกชนผู้มีที่ดินประชิดชายหาดจำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่นของใครของมัน […]

Beachlover

July 21, 2020

ใครรุกใครล้ำใคร @ หว้าโทน ประจวบคีรีขันธ์

ชายหาดแถบนี้ค่อนข้างสงบเงียบ เป็นรอยต่อระหว่างชายหาดคลองวาฬทางทิศเหนือ ยาวต่อเนื่องมาถึงชายหาดหว้ากอ มีลักษณะเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ริมชายหาด ด้วยความที่ชายหาดยังสมบูรณ์มากๆ เป็นหาดทรายขาวยาวต่อเนื่อง พื้นที่บริเวณนี้มีการสร้างบ้านหลังใหญ่ๆให้เห็นประปราย แต่ยังไม่พบเห็นโรงแรมที่พักในแถบนี้ อาจเนื่องมาจากลักษณะของพื้นที่มีความลึกค่อนข้างน้อย จึงไม่เหมาะสมกับการปลูกสร้างโรงแรม จากภาพพบความเสียหายของโครงสร้างลานปูนและกำแพงกันที่ดินที่ (ดูเหมือนว่า) ยื่นล้ำลงไปในชายหาดมากจนเกินไป ซึ่งสังเกตได้จากแนวชายหาดทางทิศเหนือและใต้ของลานปูนที่พังเสียหายนี้ ไม่ได้อยู่ล้ำลงไปมากเหมือนแนวของลานปูนและกำแพง ตามจริงแล้วแนวที่ดินที่เอกชนครอบครองได้อย่างปลอดภัยควรอยู่หลังแนวขอบฝั่ง (แนวพืชพรรณสีเขียวๆในภาพแรก) โดยไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งยื่นล้ำลงไปบนชายหาด ปัญหาลักษณะคล้ายๆกันนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เหตุเพราะยามคลื่นลมสงบดี เรามักเห็นชายหาดกว้างมากจนอาจ “เผลอ” สร้างสิ่งล่วงล้ำชายหาดเพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากับมูลค่าที่ดินริมทะเลที่สูงลิ่ว โดยลืมคิดไปว่า ยามมรสุมที่คลื่นลมแรง พร้อมระดับน้ำที่ยกตัวสูงขึ้น ทะเลจะทวงคืนพื้นที่เดิมของเขา และเมื่อนั้นภาพความเสียหายลักษณะนี้ก็จะเกิดเป็นภาพวนซ้ำเรื่อยไป แล้วแบบนี้ เราจะโทษคลื่นลมได้หรือไม่ … น่าคิด (ภาพเมื่อ 12 มิ.ย.2563)

Beachlover

July 2, 2020

กำแพงกันคลื่นปากน้ำปราณ ยังสบายดีอยู่ไหม [26 มิ.ย.2563]

ทิศใต้ของปากน้ำปราณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ตั้งของกำแพงกันคลื่นหลายรูปแบบยาวเกือบตลอดทั้งแนวชายหาด ในเดือน มิ.ย.2563 ทีมงาน Beach Lover ได้ลงสำรวจพื้นที่ทางทิศใต้ของ Jetty ปากน้ำปราณ พบความเสียหายของกำแพงกันคลื่นหลายจุด ซึ่งเกิดจากแรงของคลื่นเมื่อวิ่งเข้าปะทะกำแพงจะดึงทรายที่อยู่ด้านหน้ากำแพงออกไปพร้อมกับการสะท้อนกลับของคลื่น ส่งผลให้ฐานกำแพงทรุดและดึงให้โครงของกำแพงเอียง นอกจากนั้นคลื่นที่่วิ่งเข้าปะทะกำแพงยังยกตัวสูงขึ้นและกระเซ็นข้ามมาด้านหลัง ส่งผลให้พื้นที่ด้านหลังกำแพงที่ปูด้วยอิฐตัวหนอนนั้นพังเสียหาย โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทำการซ่อมแซมโดยนำถุงทรายขนาดเล็กและขนาดใหญ่มาวางบนโครงสร้างกำแพงที่เสียหายไปเพื่อป้องกันคลื่น แต่ก็ยังพบเห็นความระเกะระกะอยู่ตลอดทั้งแนว ส่งผลให้สภาพของพื้นที่นี้ไม่ปลอดภัยต่อการใช้ประโยชน์ โครงการฟื้นฟูบูรณะกำแพงกันคลื่นบริเวณนี้พร้อมปรับภูมิทัศน์ความยาว 930 เมตร ถูกบรรจุไว้แล้วในร่างแผนงบประมาณประจำปี 2564 และผูกพันถึงปี 2566 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง มูลค่างานรวม 147.963 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงบประมาณ, 2563)

Beachlover

June 27, 2020

อ่าวบ่อทองหลาง “Hidden Gem” แห่งประจวบฯ [26 มิ.ย.2563]

อ่าวบ่อทองหลาง ตั้งอยู่ใน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถือว่าไกลจากแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอื่นๆที่เป็นที่นิยมของประจวบฯพอสมควร นักท่องเที่ยวจึงค่อนข้างเบาบาง อ่าวบ่อทองหลาง  เป็นอ่าวขนาดเล็ก มีชายหาดโค้งเกือบจะเป็นรูปวงกลมสวยแปลกตา มีชายหาดขาว เวลาน้ำลดจะเห็นแนวหาดทรายเหมาะแก่การเล่นน้ำ เล่นทรายเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวนิยมมาเล่นน้ำพักผ่อนที่นี่ เพราะระดับน้ำตื้นและมีเกาะหินอยู่ตรงกลางอ่าว และเนื่องจากเป็นอ่าวที่มีหัวหาด (แนวโขดหิน) ทั้งสองฝั่ง ทำให้คลื่นค่อนข้างสงบ มี Dive center ให้บริการสอนดำน้ำลึกอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย ด้วยความที่เป็นหาดในอ่าวกระเปาะ “Pocket beach” ประกอบกับมีโขดหินตั้งอยู่ตรงกลางอ่าว สภาพของอ่าวบ่อทองหลางจึงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทีม Beach lover พบเห็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวบ้างริมถนน ซึ่งคลื่นอาจวิ่งเข้ามาถึงได้บ้างในช่วงน้ำเกิดระหว่างฤดูมรสุม

Beachlover

June 27, 2020

โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งปราณบุรี ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน [27ม.ค.2563]

ที่มาข่าว: https://www.facebook.com/DPT.PR.GO.TH/ โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ออกอากาศเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ในรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่วงข่าวเศรษฐกิจ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ตามลิ๊งค์ด้านล่าง▶️ https://news.bectero.com/news/168638 ปัญหาการกัดเซาะแนวชายฝั่งทะเลของไทย ปัจจุบันนี้ยังน่าเป็นห่วง หลายครอบครัวบ้านถูกคลื่นซัดพังเสียหายต้องย้ายออกจากพื้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น  ชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามันประสบปัญหาการกัดเซาะตลอดแนวชายฝั่ง ด้วยระดับความรุนแรงและสาเหตุที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะปัจจัยทางธรรมชาติ สร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชน หลายครอบครัวต้องอพยพย้ายบ้านเรือน ไม่สามารถทำการประมงหาเลี้ยงครอบครัวได้   กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลขึ้น โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมของชุมชนน้อยที่สุด ด้วยมาตรการที่แก้ไขอย่างยั่งยืน   ชายหาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ถูก น้ำทะเลกัดเซาะเฉลี่ย 1 ถึง 5 เมตรต่อปี รุนแรงสุดอยู่ตอนกลางของหาด มีการศึกษาผลกระทบหลังจากการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ข้างเคียงพบว่าปัญหาการกัดเซาะที่ปลายเขื่อนจะไม่ส่งผลไปยังหาดข้างเคียงต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ สามารถใช้แบบจำลองทางวิศวกรรมคำนวณหาขอบเขตที่แน่นอนได้  กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมชายหาดที่เสื่อมโทรมกลายสภาพเป็นลานกิจกรรมนานาชนิด สร้างอาชีพเสริม เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ผู้คนในแถบนี้ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล  ไม่เพียงคุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น แต่โครงการ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งปราณบุรี ยังช่วยยกระดับผังเมือง และเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมรอบนอกอย่างเป็นระบบภายใต้ภารกิจการพัฒนาเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมือง

Beachlover

January 28, 2020
1 4 5