ความคืบหน้า งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ณ หาดสวนสน ระยอง

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของชายหาดสวนสน จ.ระยอง ไปบ้างแล้ว ทั้งงานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได [https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ไปต่อหรือพอแค่นี้/] ความเสียหายของพื้นที่ด้านบนของกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรงที่มีอยู่เดิม [https://beachlover.net/ปรักหักพัง-หาดสวนสน/] ครั้งนี้ Beach Lover ได้ลงสำรวจพื้นที่อีกครั้งเมื่อปลายเดือน พ.ย.2563 พบว่า กำแพงกันคลื่นนี้อาจจะไม่เสร็จตามแผนที่วางไว้ในอีกไม่ถึงเดือนคือ เดือนธันวาคม 2563 พบว่าพื้นที่ทางทิศตะวันตกของแนวกำแพง โครงสร้างหลักคือขั้นบันไดนั้นสร้างเกือบเสร็จแล้ว ยังคงเหลือโครงสร้างด้านบนสุดตรงสันกำแพงและการปรับภูมิทัศน์ ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันออกของแนวกำแพงพบเพียงงานขึ้นโครงเหล็กและหล่อโครงสร้างหลักทิ้งไว้เท่านั้น สภาพโดยรวมมีคนงานทำงานอยู่ไม่มาก กำแพงกันคลื่นที่ปรากฏ ณ หาดสวนสนนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการป้องกันตลิ่งริมทะเล โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ใช้รูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได้เหมือนกับในอีกหลายๆพื้นที่ ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว และกำลังสร้างอยู่ รวมถึงที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นไปบ้างแล้ว ก็ออกมาเป็นรูปแบบเดียวกันนี้ โดยทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เคยชี้แจงเหตุผลในที่ประชุมหลายๆเวทีไว้ว่า “รูปแบบนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันชายฝั่งได้ดี หยุดการขยับของตลิ่ง ทำให้ชายฝั่งมีเสถียรภาพ สามารถลดความรุนแรงของคลื่นและลดการสะท้อนของคลื่นได้ ทำให้ลดปัญหาการคุ้ยทราย ลดการพัดพาทรายด้านหน้าหาดได้ในระดับหนึ่ง โครงสร้างได้ออกแบบให้มีความลาดชันเพียงพอต่อการให้ทรายไต่ขึ้นมาสะสมบริเวณหน้าโครงสร้างได้ นอกจากนั้น ระดับโครงสร้างถูกออกแบบให้มีความสูงเพียงพอในการป้องกันคลื่นซัดกระเซ็นข้ามสันคลื่นในฤดูมรสุมได้” หลังงานก่อสร้างแล้วเสร็จ Beach Lover จะลงสำรวจอีกครั้งและกลับมานำเสนอในโอกาสต่อไป

Beachlover

November 27, 2020

พาชมหาดขั้นบันไดแห่งใหม่ของเมืองเพชร!

พาไปชมโครงการที่กำลังก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง พื้นที่ชายหาดชะอำใต้ ระยะทาง 1.438 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 102.924 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ทั้งนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชายหาดชะอำ ระยะที่ 3 ต่อจากเฟสนี้ที่กำลังจะแล้วเสร็จไปอีก 647 เมตร รวมงบประมาณทั้งสิ้น 48.5 ล้านบาท โดยผูกพันตั้งแต่ปี 2564-2566 นอกจากนี้ยังพบว่าร่างงบประมาณปี 2564 ของ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม (ขาวคาดแดง) ได้ตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชายหาดชะอำ ไว้ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท โดยผูกพันตั้งแต่ปี 2564-2565 บนพื้นที่ชายหาดชะอำเช่นเดียวกัน ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/กัดเซาะ-ชะอำ-เอาไงดี/ สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตคือ โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเหมือนกันจากคนละหน่วยงาน บนพื้นที่เดียวกันนี้ ได้มีการปรึกษาหารือ หรือที่เรียกเป็นคำพูดที่สวยหรูเข้ากับยุคสมัยว่า “บูรณาการ” กันหรือไม่ ในขณะที่หน่วยงานหนึ่งกำลังก่อสร้างกำแพง จะมีผลต่องานศึกษาเพื่อสำรวจออกแบบการเติมทรายของอีกหน่วยงานหรือไม่

Beachlover

August 17, 2020