โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง 4 ชั้น ณ ชายทะเลปากพนัง

[ภาพเมื่อ 27 ก.ค.2563] หากใครผ่านไปผ่านมาริมทะเลปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช บนถนนเลียบชายฝั่งเส้นปากพนัง-หัวไทร จะไม่สามารถมองเห็นทะเลบริเวณนี้ได้ เนื่องจากริมทะเลนั้นมีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่สูงท่วมหัว รบกวนคุยกันให้สะเด็ดน้ำ ก่อนใช้ “ภาษีประชาชน”

Beachlover

August 3, 2020

พาชม 1 ใน 5 ของงานป้องกันชายฝั่งทะเล อ.ปากพนัง จ.นครฯ

[ภาพเมื่อ: 26 ก.ค.2563] สามตำบลของอำเภอปากพนัง จ.นครฯ กำลังมีงานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นรวม 5 โครงการ ระยะทางรวม 6.698 กิโลเมตร งบประมาณรวม 412.47 ล้านบาท (ผูกพันแล้วแต่โครงการ 2561-2564, 2562-2565, 2563-2565) แนวชายฝั่งในสามตำบลได้แก่ บางพระ ท่าพญา และปากพนังฝั่งตะวันออก ของอำเภอปากพนัง มีระยะทางรวม 36 กิโลเมตร ประมาณคร่าวๆได้ว่า 1 ใน 5 ของแนวชายฝั่งในสามตำบล กำลังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในปี 2563 (ไม่นับรวมที่สร้างเสร็จไปแล้วหลายโครงการ) วันนี้ของพาชม 1 ใน 5 โครงการที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่ ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก อ.ปากพนัง เจ้าของงานคือกรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนผู้รับจ้างคือ บ.ตากใบการโยธา จำกัด มีลักษณะเป็นกำแพงหินเรียงหลายชั้น มีจุดจอดเรือ ทางลาดขึ้นลงเรือ และบันได ระยะทาง 2.483 กิโลเมตร งบประมาณรวม 145 ล้านบาท […]

Beachlover

July 28, 2020

ปรักหักพัง @ หาดสวนสน ระยอง

[ภาพเมื่อ: 6 ก.ค.2563] หาดสวนสน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจริมทะเลขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของ จ.ระยอง ด้วยความที่เป็นชายหาดสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อาหารการกินที่มีอยู่อย่างหลากหลาย หรือจะเลือกขนทุกอย่างมาปิคนิคกันริมทะเลก็เป็นภาพที่ชินตาสำหรับที่นี่ ณ ที่นี่เราจะสามารถมองเห็นเกาะเสม็ดทั้งเกาะได้อย่างเต็มตา ทางทิศตะวันตกของชายหาดคือที่เทียบเรือไปเกาะเสม็ด ที่บรรดานักท่องเที่ยวจะต้องนำรถมาจอดฝากค้างคืน เป็น hub ของการต่อรถลงเรือ รวมถึงของฝากจากทะเลนานาชนิด ด้านหน้าของท่าเรือจะพบเขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือ (Habour breakwater) ขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทำหน้าที่ป้องกันท่าเรือและพื้นที่ด้านในให้ปลอดจากคลื่นลมแรง ทำให้การขึ้นลงเรือทำได้อย่างสะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น Beach Lover ได้ลงสำรวจชายหาดสวนสนตลอดทั้งแนว พบซากปรักหักพังของพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นทางทิศตะวันตกของชายหาด คาดว่าเกิดจากคลื่น Overtop ข้ามสันกำแพงด้านหน้าขึ้นมายังพื้นที่ด้านบน เนื่องจากกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งนี้ ยามคลื่นวิ่งเข้าปะทะกำแพงจะส่งผลให้คลื่นด้านหน้ากำแพงยกตัวสูงขึ้น น้ำทะเลบางส่วนกระเซ็นข้ามสันกำแพงเข้ามายังพื้นที่ด้านใน ส่งผลให้เกิดภาพของความระเกะระกะของเศษวัสดุอย่างที่เห็น ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ซากที่พบนี้ระเกะระกะและเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้เข้ามาใช้พื้นที่นี้เป็นอย่างยิ่ง พบแท่งเหล็กโผล่ออกมาหลายจุด การเดินไปมาบริเวณนี้ก็ทำได้ยากและพบเห็นอุบัติเหตุหลายรายที่เดินเหยียบแผ่นพื้นและสะดุดหกล้ม ดีที่แท่งเหล็กที่โผล่อยู่นี้ไม่ทิ่มแทงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบคิดว่าจะดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่งยวดคือความปลอดภัยของประชาชน หากมาตรการแก้ไขกำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ อาจใช้วิธีนำเชือกมากั้นพื้นที่ไว้ก่อน หรือหากยังคิดหนทางแก้ไขไม่ได้ ควรนำซากปรักหักพังนี้ออกไปจากพื้นที่ แล้วนำดินทรายมาถมเพื่อปรับพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย เหล่านี้คือหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลสวัสดิภาพสาธารณะให้กับประชาชน … หรือเราอยู่ในรัฐ ที่ประชาชนต้องดูแลกันเอง

Beachlover

July 25, 2020

หาดดวงตะวัน หาดเล็กๆเงียบๆแห่งนี้ กำลังจะมีกำแพง

[ภาพเมื่อ 6 ก.ค.2563] Beach Lover ไม่ค่อยได้มีโอกาสพาชมชายหาดแถบ จ.ระยอง สักเท่าไหร่ ครั้งนี้ขอพาชมชายหาดเล็กๆที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก ณ อ.แกลง จ.ระยอง ที่ชื่อว่า “หาดดวงตะวัน” แม้จะผ่านไปผ่านมาแถบ อ.แกลง จ.ระยอง บ่อยครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าเพิ่งเคยเข้ามาหาดดวงตะวันเป็นครั้งแรก ด้วยความที่หาดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับชายหาดอื่นๆที่มีชื่อเสียง อย่างหาดบ้านเพ หาดสวนสน และหาดแม่พิมพ์ ทำให้หลายคนมองข้ามชายหาดที่ทั้งสงบและสะอาดแห่งนี้ไป พบซากโรงแรมที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ รวมถึงโรงแรมร้างที่ดูเหมือนปิดกิจการไปนานแล้ว มีที่พัก ร้านอาหารประปรายทางทิศตะวันตกและช่วงกลางของหาด แต่เริ่มหนาแน่นทางทิศตะวันออก นักท่องเที่ยวค่อยข้างน้อยแม้วันที่สำรวจจะตรงกับวันหยุดยาว หาดแห่งนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของปากน้ำแกลง ซึ่งมีเขื่อนกันทรายและคลื่นปากแม่น้ำ (Jetty) 1 คู่ ด้วยตะกอนชายฝั่งของทะเลแถบนี้เคลื่อนที่จากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก Jetty ปากน้ำแกลงจึงส่งผลกระทบให้ชายหาดทางฝั่งตะวันตกเกิดการทับถมและฝั่งตะวันออกเกิดการกัดเซาะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยหาดดวงตะวันนี้มีถนนเลียบชายหาดระยะประชิดตลอดระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตร ผลกระทบที่เกิดจาก Jetty จึงทำให้ถนนเลียบหาดนี้ถูกกัดเซาะ จากการสำรวจพบซากของถุงทรายขนาดใหญ่จมอยู่ในทรายรวมถึงก้อนหินทั้งขนาดเล็กและใหญ่ น่าจะเป็นความพยายามของหน่วยงานที่ต้องการป้องกันถนนเส้นนี้จากการกัดเซาะ ในช่วงมรสุม จากการเดินสำรวจตลอดแนวชายฝั่งพบกองหินขนาดใหญ่ 1 กอง ความยาวประมาณ 32เมตร วางอยู่บนชายหาดในแนวขนานกับชายหาด คาดว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นตำแหน่งที่ถูกกัดเซาะมากที่สุดจากผลกระทบของ Jetty ปากน้ำแกลง […]

Beachlover

July 20, 2020

เตรียมตัวให้พร้อมกับแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ชายหาด(คอนกรีต)ชิงโค สงขลา

[ภาพเมื่อ มิ.ย.2563] Beach Lover  ได้นำเสนอเรื่องราวของชายหาดชิงโค จ.สงขลา ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว สามารถติดตามได้จากโพส [ https://beachlover.net/หาดหน้าโรงแรมหาดแก้ว/ และ https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-3-พื้นที่/] หากใครนั่งเครื่องบินแถว K(ขวาของลำ) แล้วมองลงมาในช่วงที่เครื่องบินกำลังจะหันหัวเปลี่ยนทิศทางเพื่อลงจอดที่สนามบินหาดใหญ่ บริเวณปากทะเลสาบสงขลา จะเห็นเส้นสีฟ้าๆอย่างชัดเจนจากกระจกเครื่องบิน เส้นสีฟ้าที่เห็นเด่นชัดจากระยะไกลนี้ แท้จริงแล้วคือทางจักรยานริมกำแพงกันคลื่นแห่งใหม่เลียบชายหาดชิงโค คาดว่าท้องถิ่นตั้งใจจะโปรโมทพื้นที่แถบนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สังเกตว่านอกจากกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่งที่ดูมั่นคงแข็งแรงและอยู่ไปได้ชั่วโคตรแล้ว ยังมีลานจอดรถ ทางเดินบนสันกำแพงและทางจักรยาน โครงการนี้ประกอบด้วยสามเฟส ขณะนี้ (ก.ค.2563)ยังไม่แล้วเสร็จ กำลังก่อสร้างในเฟสที่สาม ระยะทาง 990 เมตรด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 109.6 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2564 รวม 18.293 ล้านบาท คาดเดาได้ไม่ยากว่า พื้นที่ถัดไปจากปลายกำแพงเมื่อแล้วเสร็จจะเกิดการกัดเซาะตามมา เป็นภาพฉายวนซ้ำเช่นเดียวกันกับจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนี้ ก็เกิดจากผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงทางทิศใต้เช่นเดียวกัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก https://beachlover.net/หาดหน้าโรงแรมหาดแก้ว/) มีท้องถิ่นริมทะเลจำนวนไม่น้อยที่คิด (เอาเอง)ว่า การ “แปลงร่างหาดทรายให้กลายเป็นคอนกรีต” โดยการ “ขลิบ”ชายหาดด้วยกำแพงกันคลื่นพร้อมการปรับภูมิทัศน์นั้น จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้ จะสามารถนำรายได้กลับคืนมาสู่ท้องถิ่น ท้องถิ่นอาจอ้างว่า มิอาจปล่อยปละละเลยกับความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น (จากกำแพงกันคลื่น) ได้ […]

Beachlover

July 20, 2020

รูหลบภัย? ณ หาดคุ้งวิมาน จันทบุรี

[ภาพเมื่อ 6 ก.ค.2563] หาดคุ้งวิมาน เป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี มีน้ำทะเลที่ใสสะอาด บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะกับการพักผ่อน ที่ตั้งของหาดคุ้งวิมาน อยู่ที่อำเภอนายายอาม จ.จันทบุรี พบกำแพงกันคลื่นเกือบตลอดแนวหาดคุ้งวิมานทางทิศตะวันออกเรื่อยไปจนถึงโขดหิน ส่วนหาดคุ้งวิมานโซนถัดจากโขดหินไปทางทิศตะวันตกนั้นเป็นกระเปาะหาดขนาดเล็ก มีกำแพงกันคลื่นและถนนเลียบทะเลตลอดแนวชายหาด Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจชายหาดคุ้งวิมานตลอดทั้งแนว พบโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่สร้างไว้เดิม (ไม่ทราบหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของ) ทางทิศตะวันออกของชายหาดชำรุดเสียหาย เกิดรูขนาดใหญ่หลายตำแหน่ง บางจุดเสียหายจนวัสดุด้านในกำแพงเดิมนั้นหลุดออกไปแล้วทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ชายหาดเป็นอย่างมาก พบว่าด้านหน้ากำแพงกันคลื่นเดิมในช่วงเวลาที่สำรวจนั้น แทบจะไม่มีพื้นที่ชายหาดหลงเหลืออยู่เลย และพบเห็นการทำเชือกโรยตัวลงมาที่ชายหาดเนื่องจากไม่มีทางขึ้นลงในบางจุด เบื้องต้นพบว่า ในปี 2564 นี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ตั้งงบประมาณเพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณหาดคุ้งวิมาน ระยะทาง 380 เมตร ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 38 ล้านบาท ผูกพันถึงปีงบประมาณ 2566 โดยเบิกจ่ายในปีแรก (2564) จำนวน 7.6 ล้านบาท (สามารถหาอ่านได้จาก https://beachlover.net/งบประมาณตั้งใหม่-2564/) Beach Lover ยังไม่มีรายละเอียดของโครงสร้าง รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของโครงสร้างตัวใหม่นี้ แต่เท่าที่ดูจากสภาพหาดโดยรวม คาดว่าเป็นการสร้างกำแพงกันคลื่นตัวใหม่ทดแทนกำแพงกันคลื่นเดิมที่ชำรุด เพราะเมื่อวัดระยะทางแล้วมีระยะทางเท่ากันพอดีกับที่กรมแจ้งในเอกสารร่างงบประมาณปี 2564

Beachlover

July 16, 2020

อ่าวดงตาลกำลังจะถูกขลิบตลอดแนว 3.5 กิโลเมตร !?!

[ภาพเมื่อ 6 ก.ค.2563] ร่างงบประมาณแผ่นดินปี 2564 มีการตั้งงบก่อสร้างกำแพงกันคลื่นพร้อมปรับภูมิทัศน์บริเวณชายหาดอ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ต่อเนื่องจากที่มีอยู่เดิมระยะที่สองเพิ่มอีก 909 เมตร งบประมาณรวม 136.350 ล้านบาท โดยผูกพันไปถึงปีงบประมาณ 2566  Beach Lover พาชมชายหาดส่วนที่เป็นรอยต่อของโครงการกำแพงกันคลื่นระยะที่สองที่กำลังก่อสร้าง และระยะที่หนึ่งที่มีการก่อสร้างเสร็จไปบ้างแล้วของชายหาดดงตาล ส่วนหนึ่งของอาณาจักรฐานทัพเรือสัตหีบ พบว่าปลายสุดของกำแพงที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้นส่งผลกระทบให้ชายฝั่งส่วนถัดมาที่ไม่มีโครงสร้างป้องกันเกิดการกัดเซาะตามมา จากภาพด้านล่างภาพแรกคือตำแหน่งของปลายกำแพงที่กำลังก่อสร้าง และภาพที่สองคือตำแหน่งของชายหาดส่วนถัดมาที่ถูกกัดเซาะ คาดเดาได้ว่าเมื่อกำแพงส่วนนี้แล้วเสร็จ ก็จะทำให้ชายหาดด้านหน้าหดหายไปหลงเหลือแต่ตัวกำแพงกันคลื่น เหมือนกับบริเวณชายหาดด้านหน้าของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงและแบบแนวดิ่งที่สร้างเสร็จแล้วบนชายหาดเดียวกันทางทิศตะวันตกทั้งสองรูปแบบ ส่วนถัดไปจากกำแพงกันคลื่นที่กำลังก่อสร้างอยู่นี้ ยังคงมีสภาพเป็นชายหาดธรรมชาติ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาเล่นน้ำ ปูเสื่อทานอาหาร มีการใช้ประโยชน์เป็นที่จอดเรือและอุปกรณ์สำหรับเล่นกีฬาทางน้ำหลากหลายประเภท เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายหาดที่ค่อนข้างปลอดภัยจากคลื่นลมเพราะมีเกาะและเขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือของฐานทัพเรือเป็นปราการอยู่นอกชายฝั่ง พบว่าชายหาดธรรมชาติผืนสุดท้ายของอ่าวดงตาลนี้เริ่มแคบลง มีตันไม้ล้มบ้าง รากโผล่บ้าง คาดว่าพื้นที่ชายหาดบริเวณนี้น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการตั้งงบก่อสร้างกำแพงกันคลื่นพร้อมปรับภูมิทัศน์ ต่อเนื่องจากที่มีอยู่เดิมระยะที่สองเพิ่มอีก 909 เมตร งบประมาณรวม 136.350 ล้านบาท ซึ่งหากว่าเป็นแบบนั้นจริง อ่าวดงตาลระยะทางกว่า 3.5 กิโลเมตรนี้จะถูกขลิบด้วยกำแพงกันคลื่นตลอดทั้งแนว เมื่อนั้น “อ่าวดงตาล” ชายหาดเลื่องชื่อสำหรับกีฬาทางน้ำคงเหลือเพียงตำนาน

Beachlover

July 7, 2020

สร้างแบบนี้ จะอยู่ได้กี่เดือน…รอติดตาม

กำแพงริมชายฝั่งที่เห็นนี้ อยู่แถวบางพังกา ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา ไม่แน่ใจว่าพื้นที่ด้านในเป็นที่สาธารณะหรือที่ดินเอกชน จากภาพที่เห็นเป็นกำแพงค่อนข้างประชิดฝั่งไม่ได้ล้ำลงมาที่ชายหาดมากนัก แต่พบว่าขั้นบันไดที่เป็นทางเดินลงชายหาดนั้นยื่นล้ำลงไปเล็กน้อย และสร้างไว้ไม่แข็งแรงนัก หากน้ำทะเลและคลื่นขึ้นมาถึงตีนบันได้ ทรายบริเวณฐานอาจหายไปและดึงให้บันไดทรุดตัวลง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าในช่วงมรสุมคลื่นอาจวิ่งเข้ามากระแทกและ overtop จนบันไดที่มีด้านใต้กลวงนี้พังทลายลง มารอลุ้นกันว่าโครงสร้างลักษณะนี้ จะอยู่ไปได้กี่เดือน [ภาพเมื่อ: 30 มิ.ย.2563]

Beachlover

July 3, 2020

ใครรุกใครล้ำใครกันแน่ ?

เหตุเกิด ณ ชายหาดแห่งหนึ่งใกล้ๆกับตลาดบางพังกา ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา คาดว่าเป็นการนำดินและหินมาถมเพื่อขยายพื้นที่ด้านหน้าร้านอาหาร โดยไม่น่าจะทำเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากพื้นที่โดยรอบนั้นไม่มีสภาพถูกกัดเซาะ และแนวสันทรายชายหาดทั้งฝั่งทิศเหนือและทิศใต้ของพื้นที่นี้ ล้วนอยู่ในแนวเดียวกัน เว้นเพียงแต่กองหินกองดินที่ถมจนล้ำออกมาหน้าร้านอาหารนี้เท่านั้น [ภาพเมื่อ 30 มิ.ย.2563]

Beachlover

July 1, 2020

กำแพงกันคลื่น 4 โครงการ ณ หาดปากแตระ อ.ระโนด [29 มิ.ย.2563]

ชายหาดบริเวณนี้ มีชุมชนตั้งอยู่ค่อนข้างประชิดชายฝั่งทะเล ยังไม่มีโอกาสที่จะวิเคราะห์ว่าชายหาดกัดเซาะ “ชั่วคราวหรือชั่วโคตร” แต่พื้นที่หมู่ 3,4 และ 5 ของปากแตระ อ.ระโนด จ.สงขลา นี้เป็นพื้นที่ที่มีงานก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพร้อมปรับภูมิทัศน์จำนวน 4 โครงการ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2565 รวมความยาวตามแนวชายฝั่ง 2.7085 กิโลเมตร งบประมาณรวมทั้งสิ้น 386.08 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วกำแพงกันคลื่นแบบที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังก่อสร้างอยู่ และจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2565 นี้ มีราคากิโลเมตรละ 142.54 ล้านบาท !!! ปีถัดๆไปอาจได้เห็นงบประมาณแผ่นดินที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ถัดๆไปทางทิศเหนือของปากแตระ เหตุเพราะเมื่อสิ้นสุดปลายกำแพงกันคลื่น ชายหาดส่วนถัดไปอาจประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอันเนื่องมาจากกำแพงกันคลื่นทั้ง 4 โครงการนี้เพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากการสร้างกำแพงกันคลื่นประชิดชายฝั่งลักษณะนี้ดำเนินการได้ง่าย เพราะไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งผลให้เราอาจเห็นการระบาดของกำแพงกันคลื่นตลอดทั้งแนวชายฝั่ง ไม่เฉพาะที่นี่ … แต่อาจเป็นชายหาดที่ไหนสักแห่งที่เราคุ้นเคยก็เป็นได้ คำถามตัวโตๆ … จะไปต่อหรือพอแค่นี้

Beachlover

July 1, 2020
1 21 22 23 25