เกาะพีพีช่วง COVID-19…ไม่ต่างอะไรกับเกาะส่วนตัว

พีพียามนี้ ไม่ต่างอะไรกับเกาะส่วนตัว น้ำทะเลสวยใสไร้ที่ติ ชายหาดที่สมบูรณ์แทบจะไม่พบรอยเท้าของผู้มาเยือน หาดทรายขาวไร้ขยะ กระบวนการทางธรรมชาติได้ซ่อมแซมและเยียวยาตัวเองอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากการรุกรานจากมนุษย์ … แต่เหล่านี้มีราคาที่ต้องจ่าย Beach Lover ได้ลงสำรวจสภาพชายหาดบนเกาะพีพีในช่วงเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ที่พักรายย่อยจำนวนมากรวมถึงพวก Budget hostel ปิดตัวลง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นต่างชาติเสียส่วนมาก บางแห่งปิดไปเลยอย่างถาวรเนื่องจากสายป่านไม่ยาวพอ ที่พอยืนระยะอยู่ได้คือรายใหญ่ๆ เท่านั้น ผู้ประกอบกิจการเรือท่องเที่ยวต้องจอดเรือทิ้งเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่ภายในเกาะ บนถนนสายเล็กๆที่ผู้มาเยือนเคยต้องเดินเบียดเสียดกัน คอยหลบรถเข็นและรถมอเตอร์ไซด์ เสียงโหวกเหวกปะปนกับจังหวะเพลงที่ดังออกมาตามร้านค้า บัดนี้ กลายสภาพเป็นสถานที่ร้างผู้คน ไร้ชีวิตชีวา ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อย่าง 7-11 ต้องปิดตัวไปสองสาขา เหลือเพียงสาขาเดียวที่ยังคงเปิดให้บริการ แม้แต่ร้าน McDonald’s, Coffee Club ที่เป็น Chain ระดับโลก ก็ยังต้องปิดตัวไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนผับบาร์ริมทะเลนั้นปิดตัวลงแล้วทั้งหมด และดูจากสภาพของอาคารร้านค้าที่พบเห็น หลายกิจการไม่น่าจะกลับมาเปิดได้แบบเดิมอีกแล้วในยุคหลัง COVID-19 เหล่านี้คือต้นทุนที่แม้จะขึงขังดึงดันที่จะไม่ยอม … แต่ก็ต้องจ่ายมันอย่างเจ็บปวด

Beachlover

April 23, 2021

เกาะไม้ไผ่ ช่วงโควิด

เกาะไผ่ หรือเกาะไม้ไผ่ เป็นเกาะเล็กกลางทะเล ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะพีพีดอน ไม่ไกลจากเกาะยุงเท่าใดนัก เกาะไผ่ อยู่ในพื้นที่การดูแลของอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี แต่บรรยากาศของเกาะไผ่จะต่างกับเกาะพีพีอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นเกาะที่เงียบสงบ  มีน้ำทะเลใส มากมีหาดทรายสวยงาม เป็นเกาะที่มีแนวปะการังที่สวยงาม เหมาะสำหรับมาดำน้ำดูความสวยงามของโลกใต้ทะเล ช่วงเวลาเหมาะการเที่ยว คือช่วงที่ไม่มีลมมรสุม ประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของทุกปี (https://www.paiduaykan.com) Beach lover ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพชายหาดของเกาะไม้ไผ่ช่วง Covid-19 ในเดือนมีนาคม 2563 พบว่าแทบกลายเป็นเกาะร้าง บรรยากาศช่างแตกต่างจากปีปกติมากมาย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีอย่างบางตามากๆนั้นเป็นคนไทยทั้งหมด แต่สิ่งที่แลกมากับบรรยากาศการท่องเที่ยวที่แสนจะเงียบเหงานี้ คือความสมบูรณ์ของชายหาดและทรัพยากรหน้าหาด เกาะนี้มีข่าวว่าจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นเกาะในช่วง Low season ของทุกปี ทั้งที่ไม่มีทรัพยากรใดบนเกาะถูกทำลายเสียหาย หรือสุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายจากการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ การปิดเกาะในเขตอุทยาน ควรมีเหตุผลอย่างเพียงพอ ที่จะให้เข้าใจได้ว่าการเปิดและปิดส่งผลดีและผลกระทบต่อทรัพยากรที่ทางอุทยานดูแลรักษาอยู่อย่างมีนัยสำคัญอย่างไร การปิดนั้นง่ายและไม่ต้องใช้ฝีมือ การเปิดแบบไร้ข้อจำกัดก็ไม่ต่างกัน แต่การเปิดอย่างมีเงื่อนไขต่างหากที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการ เป็นการพิสูจน์ทั้งฝีมือตลอดจนความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ถือครองอำนาจ โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ทรัพยากรนั้นอย่างยั่งยืน

Beachlover

April 21, 2021

สันทราย ณ ปากอ่าวท่าเลน

อ่าวท่าเลน เป็นอ่าวขนาดเล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกไม่ไกลจากตัวเมืองกระบี่ ประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นสถานที่ พายเรือคายัค ที่มีชื่อเสียง เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงามมาก มีทั้งภูเขาหินปูน และป่าชายเลนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ Beach lover ได้มีโอกาสสำรวจสภาพชายฝั่งแถบนี้ และได้พบสันทรายบริเวณปากอ่าวท่าเลน ทอดยาวเป็นเสมือนเกาะกลางน้ำ มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เพียงพอให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่พายเรือคายัคได้แวะพักเก็บภาพธรรมชาติอันสวยงามนี้ไว้ ชาวเรือเล่าให้ฟังว่า สันทรายนี้เกิดจากการขุดลอกร่องน้ำปากอ่าวท่าเลนแห่งนี้ แล้ว (คิดเอาเองว่า) คงเอาทรายบางส่วนมากองรวมกันบริเวณนี้จนเกิดเป็นเกาะกลางอ่าว ถือเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

Beachlover

April 16, 2021

รื้อแล้ว! โครงสร้างปากคลองจาก @ อ่าวนาง

Beach Lover ได้เเคยนำเสนอเรื่องราวของโครงสร้างบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปากคลองจาก อ่าวนาง จ.กระบี่ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2563 ตามโพสนี้ https://beachlover.net/คลองจาก-อ่าวนาง-กำลังสร้างอะไรกัน/ หลังจากนั้นก็ได้รับทราบข่าวว่า มีการร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังสื่อต่างๆ [ตัวอย่าง https://www.77kaoded.com/news/pradit/2039902 และ https://www.youtube.com/watch?v=oEZnVLxyn7U] และไปยังหลายหน่วยงาน รวมถึงกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้อง Beach Lover ได้ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลพบว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบายน้ำเสียลงทะเล ของ อบต.อ่าวนาง ซึ่งยังมิได้ดำเนินการขออนุญาตจากกรมอุทยานฯ จึงมีการสั่งรื้อถอนในที่สุด จากการสำรวจภาคสนามในวันที่ 26 ธันวาคม 2563 พบว่า คันหินที่เคยยื่นล้ำลงไปบนชายหาดกำลังถูกรื้อถอนออก และสภาพของน้ำในคลองไม่เน่าเสีย ปากคลองเริ่มค่อยๆฟื้นคืนสภาพเดิมแล้ว ประเด็นชวนคิดต่อก็คือ (1) เหตุใดโครงสร้างปากร่องน้ำแบบนี้ จึงเกิดขึ้นได้ ณ ชายหาดท่องเที่ยวกันเลื่องชื่อของกระบี่ โดยไม่มีแม้แต่เสียงคัดค้าน หากเรื่องไม่ถูกนำสู่สาธารณะ ไม่มีการร้องเรียน โครงสร้างที่ว่านี้ก็คงแล้วเสร็จไปนานแล้ว ทั้งที่โครงสร้างลักษณะนี้ไม่ว่ามันจะถูกตีความเป็นรอบังคับกระแสน้ำ หรือเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำก็ตาม ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยเหตุที่ว่าจะนำพาความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2) หากโครงการบำบัดน้ำเสียและระบายน้ำออกสู่ทะเลนี้มีความจำเป็นจริงๆ ควรเลือกทางเลือกอื่นที่ไม่กระทบต่อพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อและเป็นหน้าเป็นตาของชาวกระบี่แบบนี้ โดยทางเลือกเหล่านั้นอาจเป็นการขุดลอกทางระบายน้ำให้ไหลเร็วขึ้นแทนการบังคับกระแสน้ำลงทะเลโดยการใช้โครงสร้างปากร่องน้ำ หรือผันน้ำไปออกเส้นทางน้ำอื่น อย่างไรก็ตาม […]

Beachlover

January 5, 2021

คลองจาก อ่าวนาง กำลังสร้างอะไรกัน?

คลองจาก อ่าวนาง ได้กลายเป็นข่าวดังเมืองต้นปีกลายว่ามีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงทะเลบริเวณหัวหาดทิศใต้ของอ่าวนาง ชายหาดเลื่องชื่อแห่งกระบี่ ติดตามข่าวบางส่วนได้จาก https://www.dmcr.go.th/detailAll/30817/nws/22 และ https://www.thaipost.net/main/detail/32608 มาวันนี้ Beach Lover ได้ลงพื้นที่อ่าวนางพบว่ามีงานก่อสร้างบริเวณปากคลองแห่งนี้ คล้ายเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) และพบว่าน้ำทะเลในพื้นที่ก่อสร้างเปลี่ยนเป็นสีของตะกอนดินทรายที่นำมาใช้เพื่องานก่อสร้างนี้ เป็นที่น่าแปลกใจถึงที่มาของโครงการนี้ เนื่องจากคลองนี้ไม่มีการเข้าออกของเรือเลย ซึ่งอาจผิดวัตถุประสงค์ของการสร้าง Jetty และอาจส่งผลกระทบให้กับพื้นที่ชายหาดข้างเคียงได้ อย่างไรก็ตาม Beach Lover ยังไม่ทราบต้นสายปลายเหตุของงานก่อสร้าง รวมถึงรายละเอียดของแบบก่อสร้าง หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะนำมาเสนอในโอกาสถัดไป

Beachlover

October 8, 2020

สำรวจการกัดเซาะชายฝั่งเกาะลันตา กระบี่ [5ส.ค.2563]

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH/ วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ กรม ทช. โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง สำรวจติดตาม และเก็บข้อมูลสถานภาพชายฝั่งบริเวณเกาะลันตาฝั่งทิศตะวันตก อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำลังแรงและมีคลื่นสูง ๑-๒ เมตร พบว่าระบบหาดอ่าวคลองดาวมีลักษณะเป็นหัวหาด (head land) และเกาะ (island) พบรอยริ้วคลื่น (ripple mark) บนชายหาด และมีโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ได้แก่ โครงสร้างกำแพงกันคลื่นประเภทตั้งตรง ไม่พบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระบบหาดอ่าวพระแอะ พบโครงสร้างกำแพงกันคลื่นประเภทขั้นบันไดและประเภทตั้งตรง พบการกัดเซาะชายฝั่งตามฤดูกาล และระบบหาดบ้านคลองโตบ ๑ พบโครงสร้างกำแพงกันคลื่นประเภทลาดเอียง อยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย พบการกัดเซาะชายฝั่งตลอดแนวของโครงสร้าง ทั้งนี้ กองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง จะได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง เพื่อจัดทำสถานภาพชายฝั่งประเทศไทย ต่อไป

Beachlover

August 5, 2020
1 2