เกาะพีพีช่วง COVID-19…ไม่ต่างอะไรกับเกาะส่วนตัว

พีพียามนี้ ไม่ต่างอะไรกับเกาะส่วนตัว น้ำทะเลสวยใสไร้ที่ติ ชายหาดที่สมบูรณ์แทบจะไม่พบรอยเท้าของผู้มาเยือน หาดทรายขาวไร้ขยะ กระบวนการทางธรรมชาติได้ซ่อมแซมและเยียวยาตัวเองอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากการรุกรานจากมนุษย์ … แต่เหล่านี้มีราคาที่ต้องจ่าย Beach Lover ได้ลงสำรวจสภาพชายหาดบนเกาะพีพีในช่วงเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ที่พักรายย่อยจำนวนมากรวมถึงพวก Budget hostel ปิดตัวลง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นต่างชาติเสียส่วนมาก บางแห่งปิดไปเลยอย่างถาวรเนื่องจากสายป่านไม่ยาวพอ ที่พอยืนระยะอยู่ได้คือรายใหญ่ๆ เท่านั้น ผู้ประกอบกิจการเรือท่องเที่ยวต้องจอดเรือทิ้งเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่ภายในเกาะ บนถนนสายเล็กๆที่ผู้มาเยือนเคยต้องเดินเบียดเสียดกัน คอยหลบรถเข็นและรถมอเตอร์ไซด์ เสียงโหวกเหวกปะปนกับจังหวะเพลงที่ดังออกมาตามร้านค้า บัดนี้ กลายสภาพเป็นสถานที่ร้างผู้คน ไร้ชีวิตชีวา ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อย่าง 7-11 ต้องปิดตัวไปสองสาขา เหลือเพียงสาขาเดียวที่ยังคงเปิดให้บริการ แม้แต่ร้าน McDonald’s, Coffee Club ที่เป็น Chain ระดับโลก ก็ยังต้องปิดตัวไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนผับบาร์ริมทะเลนั้นปิดตัวลงแล้วทั้งหมด และดูจากสภาพของอาคารร้านค้าที่พบเห็น หลายกิจการไม่น่าจะกลับมาเปิดได้แบบเดิมอีกแล้วในยุคหลัง COVID-19 เหล่านี้คือต้นทุนที่แม้จะขึงขังดึงดันที่จะไม่ยอม … แต่ก็ต้องจ่ายมันอย่างเจ็บปวด

Beachlover

April 23, 2021

เกาะไม้ไผ่ ช่วงโควิด

เกาะไผ่ หรือเกาะไม้ไผ่ เป็นเกาะเล็กกลางทะเล ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะพีพีดอน ไม่ไกลจากเกาะยุงเท่าใดนัก เกาะไผ่ อยู่ในพื้นที่การดูแลของอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี แต่บรรยากาศของเกาะไผ่จะต่างกับเกาะพีพีอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นเกาะที่เงียบสงบ  มีน้ำทะเลใส มากมีหาดทรายสวยงาม เป็นเกาะที่มีแนวปะการังที่สวยงาม เหมาะสำหรับมาดำน้ำดูความสวยงามของโลกใต้ทะเล ช่วงเวลาเหมาะการเที่ยว คือช่วงที่ไม่มีลมมรสุม ประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของทุกปี (https://www.paiduaykan.com) Beach lover ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพชายหาดของเกาะไม้ไผ่ช่วง Covid-19 ในเดือนมีนาคม 2563 พบว่าแทบกลายเป็นเกาะร้าง บรรยากาศช่างแตกต่างจากปีปกติมากมาย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีอย่างบางตามากๆนั้นเป็นคนไทยทั้งหมด แต่สิ่งที่แลกมากับบรรยากาศการท่องเที่ยวที่แสนจะเงียบเหงานี้ คือความสมบูรณ์ของชายหาดและทรัพยากรหน้าหาด เกาะนี้มีข่าวว่าจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นเกาะในช่วง Low season ของทุกปี ทั้งที่ไม่มีทรัพยากรใดบนเกาะถูกทำลายเสียหาย หรือสุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายจากการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ การปิดเกาะในเขตอุทยาน ควรมีเหตุผลอย่างเพียงพอ ที่จะให้เข้าใจได้ว่าการเปิดและปิดส่งผลดีและผลกระทบต่อทรัพยากรที่ทางอุทยานดูแลรักษาอยู่อย่างมีนัยสำคัญอย่างไร การปิดนั้นง่ายและไม่ต้องใช้ฝีมือ การเปิดแบบไร้ข้อจำกัดก็ไม่ต่างกัน แต่การเปิดอย่างมีเงื่อนไขต่างหากที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการ เป็นการพิสูจน์ทั้งฝีมือตลอดจนความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ถือครองอำนาจ โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ทรัพยากรนั้นอย่างยั่งยืน

Beachlover

April 21, 2021

หาดแตงโม เกาะสุกร กำลังจะมีกำแพง (เพิ่ม)!

เกาะสุกร หรือ เกาะหมู ได้ชื่อว่าเป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.ตรัง ตั้งอยู่ที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะสุกรส่วนใหญ่กว่า 98% เป็นชาวมุสลิม มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง มีจุดขายคือเป็นแหล่งปลูกแตงโมที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง และส่งออกไปในหลายจังหวัด และมีฝูงควายทะเลพื้นถิ่นฝูงสุดท้าย บนเกาะสุกรนี้พบฝูงควายพื้นบ้านกว่า 300 ตัว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ควายทะเล บริเวณตลอดแนวชายหาดแตงโม หมู่ที่ 2 บ้านแหลม และหมู่ที่ 3 บ้านทุ่ง หรือทางด้านทิศใต้ของเกาะสุกร มีอยู่ประมาณ 5 ฝูง โดยสามารถพบเห็นได้เพียงแห่งเดียวของไทย จะทยอยกันลงไปเล่นน้ำทะเลวันละ 2 รอบ คือ ตอนเช้าตรู่ตั้งแต่เวลา 05.30 น. และตอนเย็นพลบค่ำตั้งแต่เวลา 18.00 น. หรือช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและก่อนพระอาทิตย์ตก ควายตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่จะเดินลงทะเลเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบเล่นน้ำทะเลอย่างสนุกสนาน เป็นอีกมนต์เสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนหลงใหล (https://www.prachachat.net/) บนเกาะมีถนนคอนกรีตสภาพดีเดินทางได้เกือบรอบเกาะ (ยกเว้นเฉพาะบริเวณที่เป็นป่าชายเลนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ) มีรถสามล้อไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการท้องถิ่น มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ รวมถึงที่พักแบบ […]

Beachlover

April 19, 2021

เกเบี้ยนและรั้วไม้ ณ หาดม่วงงาม ยามนี้

จากข้อมูลสำรวจวันที่ 20 มี.ค.2564 พบว่าสภาพของไม้ที่ปักยังคงอยู่ดีและอยู่ในแนวเดิมตามรูป A และยังพบร่องรอยของทรายหน้าชายหาดถูกเกลี่ยและปรับแต่งให้เรียบร้อย (ไม่ทราบหน่วยงาน) ในตำแหน่งที่กรมโยธาและผังเมืองอ้างว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง (ทิศใต้/ทิศเหนือ/ด้านหน้า ของลานปูนซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการเพียงบางส่วน) ซึ่งนั่นหมายความว่า การดำเนินมาตรการป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวร่วมกับการปรับแต่งหาดทรายให้เรียบร้อยหลังมรสุม นั้นก็เพียงพอแล้วกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากชายหาดถูกกัดเซาะ  แม้กระทั่งแนวป้องกันแบบเกเบียนเดิมที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้สร้างไว้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้อ้างว่าชำรุดเสียหายจนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการดำเนินโครงการนี้ ณ ชายหาดม่วงงาม จากข้อมูลสำรวจสนามพบว่ายังสามารถป้องกันพื้นที่ชายฝั่งได้ในช่วงมรสุม แม้ไม่ได้สมบูรณ์เหมือนเมื่อครั้งสร้างใหม่ๆ เนื่องจากมีการชำรุดเสียหายไปบ้างตามการใช้งาน พบว่าโดยส่วนมากของเกเบี้ยนเดิมยังคงใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ (รูปที่ B และ C)  เพราะหากเสียหาย 100% และป้องกันไม่ได้ ควรจะพบร่องรอยของการซ่อมแซมถนนบ้าง แต่ตามหลักฐานพบว่าไม่มีร่องรอยการซ่อมแซมในพื้นที่โครงการแต่ประการใด (ติดตามได้จาก Link: https://www.youtube.com/watch?v=eBsizPSlqh0) ที่บันทึกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ในหมู่ที่ 7 และ 8 ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการในระยะที่ 1 และระยะที่ 2) หากแม้ว่าโครงสร้างเกเบี้ยนนี้จะมีชำรุดเสียหายไปบ้างตามสภาพการใช้งาน ก็ควรใช้วิธีการซ่อมแซมให้โครงสร้างกลับมาทำหน้าที่ได้อีกครั้ง ด้วยงบประมาณไม่มากมายขนาดที่ต้องใช้เพื่อการสร้างโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบขั้นบันได และยังไม่นำพาความเสียหายต่อชายหาดที่ยังคงสมบูรณ์อีกด้วย

Beachlover

April 18, 2021

หลากหลายชายหาด บนเกาะกุฎี

เกาะกุฎี อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเสม็ด จ.ระยอง ห่างจากฝั่งประมาณ 6 กิโลเมตร ใกล้กับเกาะกุฎี มีเกาะขนาดเล็กอีก 2 เกาะ คือ เกาะท้ายค้างคาวและเกาะถ้ำฤาษี มีหาดทรายสวยงามเหมาะแก่การเล่นน้ำ ตั้งแคมปิ้ง มีหน่วยพิทักษ์อุทยานตั้งอยู่ [https://thai.tourismthailand.org/] ไม่มีที่พัก และห้องน้ำยังไม่สะดวกมากนัก บางช่วงเวลาไม่มีน้ำจืดให้ใช้ ฝั่งทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะกุฎี เป็นหาดทรายขาวสวยงาม น้ำใส ชายหาดมีความลาดชันต่ำมาก และพบหญ้าทะเลในบางจุด ชายหาดส่วนอื่นๆของเกาะเป็นหาดหิน หน้าผาหิน มีทางเดินวนได้รอบเกาะใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที ลักษณะของชายหาดที่แตกต่างกันตามที่เห็นในภาพด้านบนนั้น ทำให้ทรายหน้าชายหาดเหล่านี้มีความแตกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิดด้วย แม้จะอยู่บนเกาะเดียวกันก็ตาม

Beachlover

April 17, 2021

สันทราย ณ ปากอ่าวท่าเลน

อ่าวท่าเลน เป็นอ่าวขนาดเล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกไม่ไกลจากตัวเมืองกระบี่ ประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นสถานที่ พายเรือคายัค ที่มีชื่อเสียง เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงามมาก มีทั้งภูเขาหินปูน และป่าชายเลนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ Beach lover ได้มีโอกาสสำรวจสภาพชายฝั่งแถบนี้ และได้พบสันทรายบริเวณปากอ่าวท่าเลน ทอดยาวเป็นเสมือนเกาะกลางน้ำ มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เพียงพอให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่พายเรือคายัคได้แวะพักเก็บภาพธรรมชาติอันสวยงามนี้ไว้ ชาวเรือเล่าให้ฟังว่า สันทรายนี้เกิดจากการขุดลอกร่องน้ำปากอ่าวท่าเลนแห่งนี้ แล้ว (คิดเอาเองว่า) คงเอาทรายบางส่วนมากองรวมกันบริเวณนี้จนเกิดเป็นเกาะกลางอ่าว ถือเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

Beachlover

April 16, 2021

อะไรเกิดขึ้นที่หาดตะโละกาโปร์ ?

การกัดเซาะบริเวณหาดตะโละกาโปร์ จ.ปัตตานี เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พอจะวิเคราะห์เบื้องต้นได้จากภาพนี้ พื้นที่ลานปูนที่ยื่นล้ำของอาคารทางด้านล่างของภาพ ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะทางด้านเหนือของลานปูนนี้ เนื่องจากการเลี้ยวเบนของคลื่นคล้ายอิทธิพลของการเลี้ยวเบนในพื้นที่ถัดจากกำแพงกันคลื่น (https://beachlover.net/seawall/) ถัดจากนั้นขึ้นไปทางตอนเหนืออีกเล็กน้อยพบต้นมะพร้าววางขวางลำอยู่ใต้น้ำในมุมที่ค่อนข้างตั้งฉากกับชายฝั่ง วางตัวประหนึ่งรอดักทรายใต้น้ำ (https://beachlover.net/groin/) ส่งผลให้ชายหาดด้านทิศเหนือถัดขึ้นไปเกิดการกัดเซาะแบบเว้าแหว่ง หากการกัดเซาะในพื้นที่หาดตะโละกาโปร์เกิดตามธรรมชาติโดยแท้ เราจะเห็นการกัดเซาะในลักษณะของการกินระยะที่ค่อนข้างเท่ากันในหาดเดียวกัน แต่จากภาพที่ปรากฏพบว่า เกิดการเว้าแหว่งของชายหาดเป็นจุดๆเฉพาะตำแหน่ง ในขณะที่ชายหาดส่วนถัดไปทางตอนเหนือยังคงสมบูรณ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้องมีตัวกระตุ้นบางอย่างที่ส่งผลให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะแบบไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เห็นดังภาพอาจแตกต่างกันไปตามทิศทางของคลื่นลม บางฤดูกาลเราอาจไม่เห็นอิทธิพลของโครงสร้างที่ยื่นล้ำนี้ได้อย่างเด่นชัด ในขณะที่บางฤดูกาลโครงสร้างนี้เองที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งอย่างมีนัยสำคัญ

Beachlover

April 15, 2021

หาดกัดเพราะรัฐสร้าง? @ หน้าสตน

Beach Lover ได้ลงสำรวจพื้นที่ชายหาดหน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พบว่ากำลังมีการสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยพบว่าปลายสุดของโครงสร้างกำแพงทางทิศเหนือ เกิดการกัดเซาะเข้ามาพื้นที่ด้านใน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และพบว่าทางท้องถิ่นได้นำไม้และถุงกระสอบมาป้องกันให้ชาวบ้านเป็นการชั่วคราว จากภาพมุมสูงเผยให้เห็นชัดเจนว่า โครงสร้างกำแพงนี้ยื่นล้ำลงไปในทะเลค่อนข้างมาก โดยยืนยันจากภาพถ่ายดาวเทียม google Earth พบว่างานก่อสร้างนี้เป็นการถมหินทับลงไปบนชายหาดโดยน่าจะยึดเอาระดับชายน้ำเป็นแนวของการถมกำแพงหินนี้ นอกจากนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าปลายของโครงสร้างทางทิศเหนือเกิดการหักเบนออกไปในทิศทางนอกชายฝั่ง ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลกระทบให้พื้นที่ชายหาดด้านในเกิดการกัดเซาะในอัตราเร่งอย่างรุนแรง ซึ่งกรณีนี้เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุเกิดจากการเลี้ยวเบนของคลื่นด้านหลังโครงสร้างกำแพงหิน ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะตามภาพความเสียหายที่ปรากฏ คำถามที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตอบคือ (1) ความจำเป็นของการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ทับลงไปบนชายหาดตลอดแนว (2) เหตุใดจึงเลือกที่จะเบนส่วนปลายสุดของโครงสร้างออกนอกชายฝั่ง (3) จะเยียวยาความเสียหายนี้ต่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างไร กรณีแบบนี้แหล่ะ “หาดกัดเพราะรัฐสร้าง” ของจริง

Beachlover

March 15, 2021

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา: ประเด็นชวนคิด 2 (ตอนที่ 4/4)

ความเสียหายที่เกิดจากการสร้างไม่ได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ พบว่าฐานของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนี้จะจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลตลอดเวลา (สังเกตได้จากเสาเข็มต้นที่อยู่ฝั่งทะเลและแนวถุงทรายตามรูปที่ 7 ในตอนแรก https://beachlover.net/ข้อสังเกต-มหาราช-ตอน1-4/และ ระดับน้ำตามรูปที่ 1 ในโพสนี้) เมื่อน้ำขึ้นจะมีบางส่วนของกำแพงที่อยู่ใต้น้ำเพิ่มเติม และเมื่อโครงสร้างอยู่ในแนวที่น้ำท่วมถึงคลื่นจะวิ่งเข้ามาถึง นั่นหมายถึงโครงสร้างนั้นกำลังรบกวนสมดุลของกระบวนการชายฝั่งทะเล แม้ตามแบบจะปรากฏชัดว่าจะมีการถมทรายกลับทับจนถึงบันไดขั้นที่หก (จากด้านบน) แต่เมื่อคลื่นวิ่งเข้าปะทะทรายที่ถูกถมทับไปบนกำแพงขั้นบันได คลื่นจะค่อยๆชักเอาทรายด้านบนและด้านหน้าบันไดออกไป และเมื่อทรายด้านบนที่ถมทับถูกชักออกไปทั้งหมด คลื่นจะสามารถวิ่งเข้ามาปะทะกำแพงโดยตรงและจะส่งผลให้เกิดคลื่นสะท้อนด้านหน้ากำแพง ยิ่งเหนี่ยวนำให้ทรายด้านหน้ากำแพงถูกดึงออกนอกชายฝั่ง และชายหาดด้านหน้ากำแพงหดหายไปอย่างถาวร แสดงผลกระทบของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นดังรูปที่ 2 นอกจากนั้นกำแพงจะยิ่งส่งผลให้ชายหาดส่วนถัดไปจากสุดปลายกำแพงเกิดการกัดเซาะได้เนื่องจากการเลี้ยวเบนของคลื่นและกระแสน้ำ แสดงดังรูปที่ 3 หากใช้มาตรการสร้างกำแพงกันคลื่น จำเป็นต้องสร้างตลอดทั้งแนว มิฉะนั้นพื้นที่ใกล้เคียงที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดผลกระทบดังรูปที่ 4 ซึ่งจะยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น งานป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้น โดยมากเป็นการดำเนินงานเฉพาะพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้วชายฝั่งทะเลเป็นเขตติดต่อที่ยาวต่อเนื่องกัน การดำเนินการในพื้นที่ใดย่อมส่งผลกระทบต่ออีกพื้นที่หนึ่งบริเวณใกล้เคียง พบว่าปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทะเลประเทศไทยส่วนใหญ่ต้นเหตุแห่งปัญหามาจากโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ซึ่งแท้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกัดเซาะ แต่กลับกลายเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาเสียเอง (https://beachlover.net/แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง/) ประเทศที่มีดินแดนติดชายฝั่งหลายประเทศ โดยเรียนรู้จากบทเรียนเดิมที่เคยเกิดขึ้นว่า มาตรการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนั้นมีข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษาที่นับวันจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ (Luciana S. Esteves, 2014) รวมถึงผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นว่ายิ่งสร้างโครงสร้างป้องกันยิ่งจะส่งผลให้ต้องสร้างต่อไปเรื่อยๆ เพราะชายหาดที่ไม่ถูกป้องกันจะถูกกัดเซาะเป็นโดมิโน่ (Domino effect) แนวโน้มของการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันจึงได้พยายามปรับเปลี่ยนวิธีการ จากการตรึงชายฝั่งให้อยู่กับที่โดยใช้โครงสร้างป้องกัน มาเป็นใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงน้อยที่สุด สำหรับประเทศไทยนั้น หลายหน่วยงานได้ดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่  […]

Beachlover

January 24, 2021

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา: ประเด็นชวนคิด 1 (ตอนที่ 3/4)

การใช้มาตรการที่เกินจำเป็น โครงการนี้ใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่วางทับลงไปบนชายหาดที่ไม่เกิดการกัดเซาะที่รุนแรง แม้พบว่าช่วงเวลาที่เคยถูกกัดเซาะนั้นมีอัตราที่รุนแรงจริง (เดือนมีนาคมถึงสิงหาคมของปี 2558 ในรูปที่ 2 อัตราการเปลี่ยนแปลงของชายหาดมหาราช จากตอนที่ 2/4) แต่พบว่าชายหาดฟื้นคืนสภาพกลับมาตามธรรมชาติได้อีกครั้งในปีเดียวกัน นั่นแปลว่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งตามฤดูกาลเท่านั้น หากเกิดการกัดเซาะอย่างถาวรเราจะไม่พบกระบวนการฟื้นคืนสภาพชายหาดเช่นนี้ และยังพบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2562 ชายหาดมหาราชระยะทาง 1.9 กิโลเมตรเกิดเปลี่ยนแปลงสุทธิในลักษณะของการทับถมในอัตรา 0.431 เมตรต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นชายหาดที่มีเสถียรภาพ ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้โดยกรมทรัพยากรธรณีและยึดถือปฏิบัติมาถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562)  นอกจากนั้น จากรูปความเสียหายจนเป็นเหตุจำเป็นให้หน่วยงานต้องดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่งบริเวณนี้ตามรูปที่ 4 (ภาพความเสียหายเมื่อ พ.ศ.2558 จากตอนที่ 2/4) พบว่า การกัดเซาะที่ปรากฏนั้นเกิดขึ้นเฉพาะจุด โดยเฉพาะตำแหน่งใกล้ๆกับทางระบายน้ำลงทะเล มิได้เกิดขึ้นตลอดทั้งแนวชายหาดแต่อย่างใด หากเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุแห่งการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันตลอดทั้งแนวชายหาดจริง เราจะพบการกัดเซาะตลอดทั้งแนวถนนเลียบชายหาด นั่นแปลได้ว่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงบางตำแหน่งและเฉพาะช่วงระยะเวลาหนึ่งตามฤดูกาลเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นชายหาดในตำแหน่งใกล้ๆกับทางระบายน้ำก็ฟื้นคืนกลับมาในสภาพปกติ สังเกตได้จากสภาพชายหาดที่กลับคืนมาจากภาพ Google street view ตามรูปที่ 3 (ร่องรอยกัดเซาะบนถนนเลียบชายหาดจาก Google street view จากตอนที่ 2/4) ซึ่งถ่ายไว้ 1 […]

Beachlover

January 22, 2021
1 13 14 15 30