เติมทรายชายหาดพัทยา มองเห็นอะไรเป็นบทเรียน [26 ต.ค.2562]

เขียนและเรียบเรียง โดย อภิศักดิ์ ทัศนี  เผยแพร่ใน https://www.facebook.com/Beach-for-life เมื่อ 22 ตุลาคม 2562

-----------------------------------------------------------------------------------

ผมมีโอกาสเดินทางไปดูการเติมทรายที่ชายหาดพัทยา 2 ครั้ง

ครั้งเเรก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ตอนนั้นโครงการเติมทรายชายหาดพัทยากำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ เเต่ใกล้จะเสร็จเเล้ว เราเห็นชายหาดพัทยาเหนือ ถึงพัทยากลาง มีการเติมทรายเเละเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร่มเตียงได้ใช้พื้นที่ชายหาด เป็นภาพที่น่าประทับใจสำหรับผมนะ เพราะการเติมทรายพัทยา ถือเป็นการเติมทรายที่มีการศึกษา ออกเเบบ เเละดำเนินการได้จนเกือบจะเเล้วเสร็จ ภาพชายหาดที่กว้างยาวออกไป 35 เมตร จากเดิมที่มีชายหาดเพียงเเค่ 10-15 เมตร มันเป็นภาพที่เราประทับใจ เเละตื่นตาตื่นใจ

รุ่งเช้าของอีกวันในการไปดูการเติมทรายชายหาดพัทยา ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คุมงานโครงการเติมทราย ได้ฟังรายละเอียดการออกเเบบ วิธีการทำงาน การติดตามผลกระทบสิ่งเเวดล้อมในขณะดำเนินโครงการ เเละการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างการรับรู้เเละความร่วมมือจากประชาชน ผู้ประกอบการิมชายหาดพัทยา ครั้งเเรกนั้นผมมีข้อสรุปสั้นๆ เพื่อเป็นการย้อนเตือนความจำให้กับทุกท่านก่อน ที่จะพูดถึงสิ่งที่ได้ไปพบเห็น เรียนรู้จากการเดินทางไปดูโครงการเติมทรายครั้งที่ 2 ของผม

ที่มา: กรมเจ้าท่า
ที่มา: กรมเจ้าท่า

เรียนรู้อะไรการเดินทางครั้งแรก

  • การเติมทรายชายหาดพัทยา เป็นงานที่มีรายละเอียดเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก เนื่องจากการดำเนินการนั้นต้องมีการล้างทรายให้มีขนาด สีที่เหมาะสมต่อชายหาด เเละการขนย้ายทรายจากนอกชายฝั่งซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตรจากชายหาดพัทยา รวมถึงการเติมทรายชายหาดพัทยาไม่ใช่เพียงเเค่การเติมทรายอย่างเดียว ยังมีการวางกระสอบทรายไว้ด้านใต้เพื่อทำเป็นเเนวป้องกันด้วย ดังนั้นการเติมทรายชายหาดพัทยาจึงเป็นงานยากในเชิงเทคนิค เเละสำหรับประเทศไทย ความรู้ เครื่องมือเเละความชำนาญการในการทำงานวิศวกรรมทางทะเลเช่นนี้ยังคงเป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องอาศัยประสบการณ์เเละการเรียนรู้อีกมาก
  • หาดพัทยา เป็นหาดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเข้าใช้ประโยชน์จากชายหาดพัทยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งช่วงกลางวันเเละกลางคืน ทั้งบนฝั่ง เเละในทะเล การเติมทรายที่จะต้องปิดพื้นที่ซึ่งต้องกระทบกับผู้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก การสื่อสารสาธารณะ เเละการสร้างความเข้าใจ ประสานความร่วมมือจากผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้โครงการดำเนินการได้ลุล่วง เเละไม่กระทบต่อผู้ใช้ชายหาด จากการเดินทางไปครั้งเเรก เราเห็นกระบวนการสื่อสารกับสังคม การมีป้ายประกาศ การลงชุมชนของทีมก่อสร้างที่สร้างปฏิสัมพันธ์ เอาใจใส่เรื่องผลกระทบสิ่งเเวดล้อม เป็นอย่างมาก
  • การใส่ใจต่อมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งเเวดล้อม เเละการติดตามผลกระทบสิ่งเเวดล้อม เช่น การตรวจสอบดูเเลม่านดักตะกอนเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของตะกอนริมชายหาด การติดตั้งเครื่องตรวจวัดความดังของเสียงในพื้นที่การดำเนินโครงการ การสอบถามปัยหาด้านสิ่งเเวดล้อมจากผู้ประกอบการเเละนักท่องเที่ยว เป็นต้น
  • เเละเรื่องสุดท้ายที่น่าเป็นห่วง คือ ปัญหาของน้ำท่วมเมืองพัทยาที่จะกระทบต่อการเติมทรายชายหาดพัทยา ทำให้ชายหาดเป็นเเผล เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เทศบาลเมืองพัทยา กรมเจ้าท่า เเละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องขบคิดกันต่อไปว่าจะจัดการอย่างไร

ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กรมเจ้าท่าดำเนินการเติมทรายชายหาดพัทยาเเล้วเสร็จ เปิดพื้นที่ชายหาดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว เเละผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์ ภาพชายหาดที่กว้างยาว เม็ดทรายสีเหลืองทอง เป็นภาพที่เผยเเพร่ออกไปสู่สาธารณะ ทำให้ผู้คนต่างชื่นชมกับความสำเร็จใจการเติมทรายชายหาดพัทยา เเละจัดกิจกรรมต่างๆริมชายหาด เช่น วิ่งบีกินี้บนชายหาดพัทยา เป็นต้น

ที่มา: กรมเจ้าท่า

เดินทางครั้งที่ 2 สู่ชายหาดพัทยา

ช่วงวันหยุดยาว ตุลาคมที่ผ่านมา ประมาณ 8 เดือนหลังเติมทรายชายหาดพัทยาเสร็จ ผมมีโอกาสได้ไปเดินสำรวจชายหาดพัทยา สิ่งที่ผมเห็นคือชายหาดพัทยาที่เติมไว้ยังคงเป็นหาดทรายกว้าง เม็ดทรายสีเหลืองทอง เเละผู้คนที่กำลังนั่งพักผ่อนบนหาด วิ่งเล่นบนหาดในยามเย็น เป็นภาพที่ประทับใจมาก เเต่อย่างไรก็ตามนอกจากความสวยงามของหาดทรายเเละความสุขของผู้คนเเล้วนั้น เห็นบทเรียนบางอย่างจากชายหาดพัทยาที่อาจเกิดขึ้นกับสงขลา เเละหาดอื่นๆที่กำลังจะมีโครงการเติมทรายชายฝั่ง อย่างน้อยที่ได้ยินว่าข่าวจะมีการเติมทราย คือชายหาดจอมเทียน

ผมคิดว่าการเดินทางไปดูชายหาดพัทยาครั้งที่ 2 มีสิ่งที่พบเห็นเป็นข้อคิด เป็นบทเรียนให้หาดอื่นๆต่อไป มีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

  • ประการเเรกผมต้องย้ำเตือนก่อนว่า การเติมทรายชายหาดเป็นมาตรการที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เป็นมาตรการเดียวที่จะทำให้มีมวลทรายหน้าชายหาด การเลือกใช้มาตรการเติมทรายนั้นต้องคำนึงหลายอย่างด้วยกัน เช่น ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อการใช้ชายหาด มูลค่าชายหาด การเติมทรายต้องมีการศึกษาออกแบบอย่างรอบครอบ เพื่อให้การเติมทรายมีประสิทธิภาพ เช่น วัสดุที่นำมาเติม การออกเเบบรูปตัดชายหาด ความลาดชันชายหาด ขนาดเม็ดทราย การบดอัด เเละอื่นๆ ดังนั้นการเติมทรายมีรายละเอียดในเชิงวิชาการที่ต้องศึกษาอย่างรอบด้านเเละจริงจัง เพื่อให้การเติมทรายมีประสิทธิภาพ
  • หลังผ่านไป 8 เดือน สิ่งที่เห็นคือ ทางระบายน้ำฝนของเมืองพัทยาที่ปล่อยลงสู่ชายหาด ทำให้โครงการเติมทรายได้รับความเสียหาย ภาพที่เราพบเห็นคือ ทางน้ำที่ไหลบนชายหาด เป็นเสมือนรอยเเผล เเละมันไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ทุกครั้งที่ฝนตกลงมาอย่างนัก ชายหาดพัทยาจะได้รับความเสียหายทุกครั้ง
  • ผ่านมรสุมไปเเล้ว 1 ครั้ง ทรายที่เติมยังคงอยู่ เเละเป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้ใช้ประโยชน์ ได้มีชายหาดเป็นพื้นนัทนาการ การเติมทรายชายหาดพัทยา เป็นเสมือนความหวังของการใช้โครงสร้างอ่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้โครงสร้างเเข็งรูปเเบบต่างๆ ทั้งกองหิน กระสอบทราย เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง โครงสร้างเเข็งเหล่านั้นมีผลกระทบกับชายหาดอีกพื้นที่หนึ่ง เเละดูเหมือนจะไม่ใช่ทางออกในการได้หาดทรายกลับคืนมา การเติมทรายชายหาดพัทนา ผ่านไป 8 เดือนเเล้ว ทรายที่เติมยังคงอยู่ ผู้คนได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาด เป็นเสมือนความหวังในการหันมองเลือกทางเลือกอื่นๆ นอกจากโครงสร้างเเข็งเพียงอย่างเดียว
ที่มา: www.beachlover.net

บทเรียนให้ชายหาดอื่นๆ ที่จะมีการเติมทราย

การเดินทางไปดูชายหาดพัทยาหลังการเติมทรายเสร็จสิ้น ผ่านไป 8 เดือน สิ่งที่เห็น ทำให้ผมขบคิด เเละมองว่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับชายหาดอื่นๆ รวมถึงชายหาดสมิหลา - ชลาทัศน์ ที่กำลังเติมทรายอยู่นั้น สำหรับผมคิดว่า การเติมทรายชายหาดพัทยา คือ ทางเลือกใหม่ของการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ประเทศไทยเราติดกับดักของการใช้โครงสร้างเเข็งเพื่อเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างช้านาน รัฐไทยเเทบจะไม่เลือกเเก้ไขปัญหาด้วยโครงสร้างเเบบอ่อน เเต่กรณีชายหาดพัทยาทำให้เห็นว่า เรามีทางเลือกใหม่ เเละเกิดขึ้นเเล้วที่นี้ ที่ชายหาดพัทยา

จากกรณีชายหาดพัทยา เรื่องทางระบายน้ำผมคิดว่าเป็นภาพสะท้อน วิธีิคิดเเบบการมองเรื่อง เรื่องเดียว มองโครงการนั้นเพียงโครงการเดียว โดยไม่คิดถึงโครงการอื่นใกล้เคียงที่อาจจะกระทบต่อโครงการที่ดำเนินการอยู่ เมืองที่ติดชายฝั่ง ต้องระบายน้ำลงสู่ทะเล การเติมทรายโดยไม่คิดถึงปัญหาเรื่องการระบายน้ำลงสู่ทะเล เเละก่อให้เกิดความเสียหายกับการเติมทรายนั้น เป็นสิ่งที่ควรคิดไปควบคู่กัน เเละมองผลกระทบที่ตจะกิดขึ้นจากกันเเละกัน เช่น หาดถมทรายปิดทางระบายน้ำจะกระทบกับน้ำท่วมเมืองไหม หรือปล่อยน้ำลงชายหาด โครงการเติมทรายจะได้รับความเสียหายไหม เรื่องเหล่านี้ควรคิดไปด้วยกันเเละเเก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน ซึ่งกรณีพัทยาเป็นกรณีตัวอย่างให้หาดสมิหลา ชลาทัศน์ รวมถึงหาดอื่นๆที่กำลังจะเดิมทราย หรือมีโครงการจะเติมทราย ให้คิดถึงเรื่องทางระบายน้ำ เรื่องคลอง เเละเรื่องอื่นที่เกี่ยวร้อยสัมพันธ์กัน เราควรมองอย่างรอบด้านเเละคิดอย่างรอบครอบมากเพียงพอ เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อกัน

กรณีชายหาดพัทยา มีการศึกษาออกเเบบ เเละดำเนินการตามเเบบที่ได้ศึกษาไว้ ซึ่งผมคิด การติดตามชายหาด เป็นเรื่องที่จำเป็นเเละต้องส่งเสริม สนับสนุนให้พลเมืองไดเข้ามีส่วนร่วมในการติดตามสภาพชายหาด ผ่านการทำงานที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากพลเมืองในพื้นที่โครงการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามการเปลี่ยนเเปลงสภาพชายหาดอย่างต่อเนื่อง มีข้อมูล เกิดชุดความรู้ของท้องถิ่น ที่พลเมืองร่วมกันกับรัฐจัดทำขึ้นมา มันจะเป็นการสร้างการศึกษาของภาคพลเมืองที่สำคัญ เเละสำนึกของความเป็นเจ้าของร่วมของพลเมืองในพื้นที่จะเกิดขึ้น

ในสังคมไทย ควรใช้พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่จากการการศึกษาของภาคพลเมืองจากเรื่องจริงสถานการณ์จริงเช่นนี้ เพื่อทำให้พลเมืองในสังคมนั้นตื่นตัว ตื่นรู้ เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนา เปลี่ยนเเปลงสังคมที่ตนเองอยู่อาศัย