ในสภาวะโรคระบาด มนุษย์จะโหยหาอะไรไปมากกว่า น้ำสะอาด อาหารที่ปลอดภัยมีประโยชน์ สุขอนามัยที่ดี สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตรอด เชื้อโรคไม่แยกชนชั้น รวยจน อำมาตย์หรือไพร่ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบไหน สภาพสังคมอย่างไร ประเทศพัฒนาแล้วหรือด้อยพัฒนา ล้วนแล้วแต่ได้รับความเสี่ยงนี้ร่วมกัน
จากสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญร่วมกันอยู่นี้ บรรดาห้างร้าน โรงงาน โรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว บริษัท และหน่วยย่อยอีกมากมาย ที่รัฐมักโปรโมทพ่วงมาพร้อมกับโครงการพัฒนาใหญ่ๆโตๆว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดการจ้างงาน นำเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ชุมชน จะมาช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของเราให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ถึงช่วงเวลานี้ไม่มีหน่วยไหนเอาชนะโรคระบาดนี้ได้เลย
แต่ cluster ที่ยังคงขับเคลื่อนให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้คืออาหาร เราควรหันกลับมามองต่อไปว่า หากโครงการพัฒนาของรัฐทำลาย ”ครัวโลก” ทำลายแหล่งผลิตอาหารที่ป้อนให้มนุษย์อย่างไม่เลือกชนชั้น ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศ น้ำสะอาด เราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป หากต้องเผชิญวิกฤตอีกครั้ง…และอีกครั้ง
ทะเล “ไข่แดง” ที่นี่ บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา รัฐกำลังจะเปลี่ยนชาวบ้านแถบนี้จาก”เจ้าของกิจการ” อย่างชาวประมง ชาวไร่ ชาวสวน ให้กลายเป็น”ลูกจ้าง”ในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐ “อ้างว่า” จะส่งผลดีและยั่งยืนต่อคนในพื้นที่
รัฐกำลังจะเปลี่ยนทะเลที่เป็นครัวที่ส่งมอบอาหารทะเลสะอาดไปยังชุมชนเมือง ให้กลายเป็นแหล่งรองรับมลพิษจากพื้นที่อุตสาหกรรม รัฐกำลังจะเปลี่ยนอากาศสะอาดที่เป็นแหล่งเพาะนกเขาเสียงใสส่งออกที่มีรายได้ดีกว่า Senior engineer ของหลายบริษัทในเมืองกรุงให้เป็นอากาศที่ปนเปื้อน รัฐกำลังจะแทนที่สันทรายโบราณอายุกว่าหกพันปีด้วยนิคมอุตสาหกรรม และรัฐกำลังจะเปลี่ยนชายหาดที่เป็นพื้นที่แห่งความสุข ให้กลายเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่
สิ่งที่ควรตั้งคำถามตัวโตๆคือ รัฐต้องการสิ่งใดกันแน่ การพัฒนาที่ “มองข้ามหัวประชาชน” โดยใช้ภาษีประชาชน มันคือสิ่งที่รัฐบอกว่าดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จริงหรือ?
การเหยียบหัวประชาชน ไม่มีทางที่จะนำพาความสำเร็จให้กับโครงการพัฒนาของรัฐได้ไม่ว่ามันจะใหญ่หรือเล็กขนาดไหนก็ตาม สิ่งที่รัฐควรทำ คือการเข้าไปนั่งอยู่ในใจของประชาชน ถามเขาสักนิด ว่าเค้าต้องการอะไรกันแน่ เมื่อรัฐเข้าไปอยู่ในใจประชาชนได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็คงสำเร็จได้ไม่ยากนัก