ม.อ.แก้ปัญหาร่องน้ำบ้านน้ำเค็ม และหาดคึกคัก จ.พังงา ถูกกัดเซาะ [31 ตุลาคม 2562]

ที่มา: https://www.psu.ac.th/th/node/9246

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิจัยแนวทางบริหารจัดการร่องน้ำบ้านน้ำเค็ม และหาดคึกคัก จ.พังงา ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งบ้านน้ำเค็ม ตามวิถีชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำทรายจากเหมืองเก่า ใน จ.พังงา มาเติมชายหาด และป้องกันการกัดเซาะด้วย ปะการังเทียม “โดมทะเล”

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ประภาศ เมืองจันทร์บุรี รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผศ.พยอม รัตนมณี หัวหน้าโครงการฯ ร่วมกันแถลงข่าว โครงการทำการศึกษาวิจัยแนวทางในการบริหารจัดการปากร่องน้ำบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ที่ห้องประชุม สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ทั้งนี้การศึกษาวิจัยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 รวมเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเสนอแนวทางในการบริหารจัดการชายฝั่งบ้านน้ำเค็ม โดยการสำรวจสมุทรศาสตร์ เพื่อฟื้นฟูบ้านน้ำเค็มจังหวัดพังงา สำหรับใช้เป็นแนวทางในการบริการจัดการร่องน้ำ รวมถึงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งบ้านน้ำเค็ม

ผศ.พยอม รัตนมณี หัวหน้าโครงการวิจัยแนวทางในการบริหารจัดการปากร่องน้ำบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา กล่าวว่า มาตรการป้องกันการกัดเซาะบ้านน้ำเค็ม และหาดคึกคัก ด้วยการบริหารจัดการชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวบริเวณหาดคึกคัก ลดลงจากปีละ 8 พันล้านบาท เหลือประมาณ 1 พันล้านบาท

ทีมวิจัยได้สำรวจพบเหมืองเก่าในจังหวัดพังงา ที่มีจำนวนมากกว่า 100 แห่ง เมื่อนำทรายในเหมืองมาวิจัย พบว่าสามารถนำมาเติมบริเวณชายหาดได้ และจากการศึกษาการป้องกันทรายถูกกัดเซาะบริเวณชายหาด ที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยมากว่า 10 ปี ด้วยการใช้ปะการังเทียม “โดมทะเล”วางเป็นแนวเพื่อปัองกันการกัดเซาะ ซึ่งถ้าไม่มีการป้องกัน ชายหาดที่นำมาเติม จะถูกกัดเซาะหายไปภายใน 3-5 ปี โดยได้นำมาทดลองในแบบจำลองที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วิธีการฟื้นฟูชายหาดคือจะนำทรายจากเหมืองในจังหวัดพังวา จำนวน 200,000 ลูกบาศก์เมตร มาเติม ที่หาดคึกคัก จ.พังงา โดยจะเพิ่มพื้นที่ชายหาดได้ 24 ไร่ ซึ่งถือว่าคุ้มค่า เพราะปัจจุบัน พื้นที่บริเวณนี้มีราคาไร่ละ 20 ล้านบาท โดยได้รับความร่วมมือจาก สส.ในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นักวิชาการ และนักธุรกิจพร้อมสนับสนุน คาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการ จำนวน 200 ล้านบาท และใช้เวลา 1 ปี ในการดำเนินการหลังจากทำการศึกษา

สำหรับ "ชุมชนบ้านน้ำเค็ม" ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ประกอบด้วย ประชากร 2,202 ครัวเรือน ประกอบอาชีพทำการประมงเป็นหลัก โดยใช้ร่องน้ำคลองตะกั่วป่า เป็นเส้นทางสัญจร และที่จอดเรือประมง ในปี พ.ศ.2547 ได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในฝั่งทะเลอันดามัน ภัยพิบัติในครั้งนี้นอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องบ้านน้ำเค็มแล้ว คลื่นยักษ์ยังทำลายปากร่องน้ำ อันเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และยังขยายผลกระทบออกไปเป็นวงกว้าง คลอบคลุมผ่านตำบลเกาะคอเขา จนกระทั่งปัจจุบัน ตะกอนได้ทับถมปากร่องน้ำขึ้นเป็นกองสูง โผล่ขึ้นเหนือน้ำ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการสัญจรทางน้ำ ตะกอนบางส่วนได้ปิดทับหน้าท่า และท่าเทียบเรือ จนไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป ตะกอนยังทำให้เรือประมงพาณิชย์เกยตื้น สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของอาชีพชุมชน

นอกจากนั้น ในช่วงหน้ามรสุม คลื่นจะกระโจมเข้าด้านในคลองตะกั่วป่า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเรือประมงที่จอดหลบอยู่ด้านในด้วย สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน และทำให้ป่าชายเลนบริเวณริมคลองตะกั่วป่าได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งต่อวิถีชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม