พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี หาดทรายเม็ดแรก ทะเลเพชรบุรี

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH/

วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก สำรวจพื้นที่กรณีที่ได้รับเเจ้งเรื่องพบปลาทะเลขนาดเล็กเกยหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี ผลตรวจวัดปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลพื้นฐาน ๕ สถานี ได้แก่ ปากแม่น้ำบางตะบูน หาดทรายเม็ดแรก หาดเจ้าสำราญ หาดบางเก่า และหาดชะอำ พบปลาทะเลตายเกยบริเวณหาดทรายเม็ดแรก หาดเจ้าสำราญ และหาดบางเก่า พบนำ้ทะเลมีสีน้ำตาลแดงเป็นฟอง ซึ่งช่วงเวลาที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเล เป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น พบค่าอุณหภูมิน้ำทะเล ๓๒.๕-๓๓.๕ องศาเซลเซียส มีค่าความเป็นกรดด่าง ๗.๙๗-๘.๒๔ ค่าความเค็ม ๒๙.๔-๓๐.๓ ppt ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ๕.๗-๗.๖ mg/l พบการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชชนิด Chaetoceros spp. (ความหนาแน่น ๕๑๕,๐๒๑ เซลล์/ลิตร) และ Ceratium furca (ความหนาแน่น ๑๓๒,๔๑๓ เซลล์/ลิตร) เฉพาะสถานีหาดทรายเม็ดแรก

เบื้องต้นปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลฯ ที่กำหนด (กรมควบคุมมลพิษ, 2560) โดยสาเหตุการพบปลาทะเลลอยหัวและตายเกยหาด เกิดจากปรากฏการณ์น้ำเบียด เนื่องจากมีน้ำจืดไหลลงทะเลปริมาณมาก ซึ่งพบบ่อยช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน-ตุลาคม) เป็นลักษณะทางธรรมชาติที่จะเกิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลมีปริมาณน้อยลง ทั้งนี้ ศวบต. จะดำเนินการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป