ประเด็นชวนคิดจากงบประมาณแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของรัฐ [16 ต.ค. 2562]

จากแผนงบประมาณประจำปีของกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมืองในปีที่ผ่านมาและแผนงบประมาณผูกพันในปีนี้และปีถัดไป มีข้อน่าชวนคิดบางประเด็น

บางโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่ติดกัน ตามกรณีที่ยกมาในภาพคือหาดบริเวณชิงโค จ.สงขลา กรมเจ้าท่าได้ตั้งงบและดำเนินการก่อสร้างไปแล้วบางส่วนสำหรับโครงการป้องกันชายฝั่งแถบธรรมสถานหาดทรายแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง โดยโครงการนี้มีโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือ (Habour breakwater) ยื่นล้ำลงไปในทะเลค่อนข้างยาวตามภาพ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้หาดตั้งแต่แถบโรงแรมหาดแก้วรีสอร์ทไปทางทิศเหนือซึ่งเกิดการกัดเซาะอย่างหนัก ในการนี้ หากดูจากงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองพบว่าได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้รอเพื่อแก้ไขปัญหานี้ไว้แล้วเช่นกัน โดยได้ดำเนินการไปบ้างแล้วบางส่วนสอดรับกับโครงการของกรมเจ้าท่า

ทั้งสองหน่วยงานมีวิศวกรผู้มีความรู้ และทราบดีอยู่แล้วว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรหากก่อสร้างโครงการตามแผน โดยสังเกตได้จากแผนงบประมาณที่ได้ตั้งรอไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่เกิดจากการสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะของอีกหน่วยงานหนึ่ง

ดูจะเป็นคำพูดที่ย้อนแย้งแต่เป็นจริงก็คือ โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของหน่วยงานหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะกระทบชิ่งไปยังพื้นที่ถัดไป ทำให้อีกหน่วยงานหนึ่ง เข้ามาสร้างโครงสร้างป้องกันต่อเนื่องไป

คำถามที่ตามมาคือ
ต้องสร้างไปเรื่อยๆใช่หรือไม่ ? ประเทศเรามิได้ร่ำรวยพอที่จะสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไปเรื่อยๆตลอดแนวสามพันกว่ากิโลเมตร

คำถามต่อมาคือ
การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของหน่วยงานแรกนั้นๆไม่สัมฤทธิ์ผลใช่หรือไม่ ? ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ใช่หรือไม่ ? จึงต้องเกิดโครงการป้องกันการกัดเซาะของอีกหน่วยงานหนึ่งในพื้นที่ถัดไป

คำถามสุดท้าย
หากเป็นจริงตามข้อ 1 และ 2 แปลว่าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานั้น หน่วยงานควรยอมรับได้แล้วว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกัน เพราะป้องกันได้เพียงบางส่วนและส่งผลกระทบชิ่งไปยังพื้นที่ข้างเคียง จนต้องสร้างโครงสร้างป้องกันไปเรื่อยๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมานั่งคุยกันอย่างจริงจัง มิใช่การมีระดมสมองพูดกันแต่เรื่องเดิมๆในทัศนะการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ซึ่งเมื่อจบการถกเถียงทุกกรมกองก็กลับไปเดินหน้าแก้ปัญหาแบบเดิมๆต่อไป

เราสูญเสียชายหาดที่สมบูรณ์ไปแล้วมากมาย แต่ยังคงมีอีกหลายแห่งที่ยังคงสภาพสวยงามอยู่ แม้เราจะช้ามากแล้ว แต่ไม่มีอะไรสายเกินไป ปักหมุดทางความคิดใหม่เพื่อการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งแบบใหม่กันเถอะ มิฉะนั้นชายหาดบางแห่งอาจกลายเป็นตำนานให้ลูกหลานเราได้พูดถึงผ่านเพียงคำบอกเล่าและภาพถ่ายเก่าๆ