ที่มาข่าว: https://www.facebook.com/greensouthfoundation/
30 พฤศจิกายน 2565 ชาวดอนทะเล ต.คันธุลี สุราษฎร์ธานี ติดตามสภาพชายหาดก่อนเข้ามรสุม ด้วยวิธี Water Level เพื่อเป็นฐานข้อมูลสภาพชายหาดของชุมชน.
การเก็บข้อมูลติดตามสภาพชายหาด เป็นกระบวนการชุมชนเพื่อสร้าง “Citizen Science” หรือนักวิทยาศาสตร์พลเมือง มีการใช้เครื่องมือติดตามสภาพชายหาดที่พัฒนาโดย ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ม.เกษตรศาสตร์ ด้วยวิธี Water Level ในการวัดรูปตัดชายหาด ใช้หลักการของระดับน้าในสายยาง ที่จะรักษาระดับคงที่เสมอ ก่อนบันทึกข้อมูลลงแอพพลิเคชั่น BMON บนโทรศัพท์มือถือทั้งข้อมูลระดับ มุมลาดเอียงชายหาด และภาพถ่าย 4 ทิศ ในแต่ละตำแหน่งที่สำรวจ
หาดดอนทะเล ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบของการลุกขึ้นปกป้องชายหาดจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นได้สำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทย โดยไม่มีการตอกเสาเข็มโครงการ ไม่มีการฟ้องร้องคดี ปัจจัยสำคัญมาจากการเฝ้าระวังและติดตามสภาพชายหาดของชุมชนเป็นทุนเดิม เมื่อพบว่าชายหาดที่เคยกัดเซาะจนทำให้คนในชุมชนมีมติให้สร้างกำพกันคลื่น กลับคืนสภาพสู่ชายหาดสมดุล เป็นเพียงการกัดเซาะตามฤดูกาล จึงมีการยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆทั้งในระดับจังหวัด และกรมโยธาธิการแะละผังเมือง ให้ยกเลิกโครงการ เนื่องจากกำแพงกันคลื่นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
ภายหลังการคัดค้านโครงการฯ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากการสำรวจ 195 คน ไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนวน 155 คน ส่งผลให้ท้องถิ่นทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และมีการประกาศยกเลิกโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2564