คิดถึงอ่าวมาหยากันไหม

อ่าวมาหยาได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปยลโฉมกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา หลังจากปิดกิจกรรมการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนานถึง 3 ปี 7 เดือน ก่อนที่จะได้ไปเหยียบทรายที่นุ่มดุจพรมของอ่าวมาหยากันอีกครั้ง Beach Lover ขอนำเสนอเรื่องราวบางส่วนเพื่อประกอบการกลับไปชมความงดงามระดับโลกนี้

อ่าวมาหยา

อ่าวมาหยาเป็นส่วนหนึ่งของเกาะพีพีเล จ.กระบี่ ตัวเกาะมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน มีหน้าผาสูงชันตั้งฉากกับพื้นผิวทะเล โดยรอบเกือบทั้งเกาะมีน้ำลึกเฉลี่ยประมาณ 20 เมตร เกาะแห่งนี้มีเวิ้งอ่าวสวยงามหลายแห่ง อาทิ อ่าวปิเละ อ่าวมาหยา และอ่าวโล๊ะซามะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะพีพีเลมีถ้ำไวกิ้งและถ้ำพญานาค ภายในถ้ำทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้พบภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์เป็นรูปช้างและรูปเรือชนิดต่าง ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถทำกิจกรรมนันทนาการได้อย่างหลากหลาย ทั้งการดำน้ำชมแนวปะการัง เล่นน้ำ และพายเรือแคนูชมทัศนียภาพ เป็นต้น

ภาพจาก Google Earth ธันวาคม 2563

ข้อมูลจากฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศกลางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (http://fgds.dmcr.go.th) ของเกาะพีพีเล พบว่า โดยรอบเกาะนั้น ล้อมรอบไปด้วยปะการัง พบปะการังเทียมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ และมีชายหาดทรายเพียงแห่งเดียวคืออ่าวมาหยา 

หน้าหาดอ่าวมาหยา

พื้นที่หน้าหาดของอ่าวมาหยามีความยาวประมาณ 270 เมตร ความกว้างประมาณ 15 – 20 เมตร จากสันทรายไปยังน้ำทะเล เม็ดทรายสีขาวมีขนาดเฉลี่ย 0.25 มิลลิเมตร บริเวณสันทรายมีสังคมพืชชายหาดท้องถิ่น เช่น ต้นรักทะเล ต้นพลับพลึงทะเล ต้นหูกวาง หญ้า และต้นหมัน เป็นต้นส่วนพื้นที่ของเกาะพีพีเลที่ด้านหลังของอ่าวมาหยามีสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น บ้านพักของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และห้องน้ำ สำหรับสังคมพืชเป็นลักษณะสังคมเดียวกับสังคมพืชในบริเวณสันทรายหน้าหาด

สังคมพืชบริเวณชายหาด

แม้อ่าวมาหยาจะมีชื่อเสียงโด่งดังมาแล้วตั้งแต่ในอดีต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสของการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Beach ในปี พ.ศ. 2542 ยิ่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชมความงดงามของอ่าวมาหยาอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งปี โดยมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก จนเกิดสภาวะล้นเกินขีดจำกัดการรองรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างก้าวกระโดดในปี พ.ศ. 2559 ส่งผลให้พื้นที่อ่าวมาหยาทั้งส่วนที่เป็นชายหาด เนินทราย และในทะเลเกิดความทรุดโทรม ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแนวปะการังถูกทำลายเสียหาย จากกิจกรรมการท่องเที่ยว (ติดตามได้จากภาพข่าวเก่าๆจากสำนักข่าวต่างๆในช่วงก่อน มิ.ย.2561)

หน้าหาดอ่าวมาหยา

ในที่สุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกประกาศปิดกิจกรรมบริเวณอ่าวมาหยา ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุม และเพื่อเป็นการพักฟื้นทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว (https://www.thaipost.net/main/detail/9492) จากนั้นได้มีการออกประกาศฉบับต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ระบุให้ปิดกิจกรรมบริเวณอ่าวมาหยาต่อไปอย่างไม่มีกำหนด โดยเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 (https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1631964) ซึ่งในช่วงระหว่างการปิดนั้น นักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของอ่าวมาหยาได้ในระยะไกล โดยจะถูกกั้นด้วยทุ่นไข่ปลาในระยะประมาณ 300 เมตรจากฝั่ง

แนวทุ่นไข่ปลาเพื่อกั้นเรือท่องเที่ยว

นับจนถึงปัจจุบันที่มีการประกาศเปิดอ่าวมาหยาให้ดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวได้แบบจำกัดเงื่อนไขตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 นั้น (https://thestandard.co/maya-bay-opens-1-january-2022/) นับได้ว่ามีการปิดกิจกรรมการท่องเที่ยวบริเวณอ่าวมาหยาไปแล้วรวม 3 ปี 7 เดือน น่าสนใจและตามต่อว่าหลังจากปิดให้ธรรมชาติฟื้นตัวไปเสียพักใหญ่ การประกาศเปิดครั้งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบริเวณอ่าวมาหยาหรือไม่