โครงการเขื่อนกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพื้นที่ชายฝั่งอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์
สภาพทั่วไปของพื้นที่
ชายหาดบริเวณอ่าวน้อยมีลักษณะเป็นหาดกระเปาะ (pocket beach) ขนาดเล็กยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร วางแนวเหนือใต้อยู่ระหว่างเขาคั่นกระไดและเขาตาม่องล่าย ซึ่งมีหน้าที่เป็นปราการป้องกันคลื่นลมตามธรรมชาติได้ส่วนหนึ่ง ชายหาดค่อนข้างมีความสมดุลในตัวเอง หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพจะเป็นไปเพียงช่วงเวลาสั้นๆในฤดูมรสุมเท่านั้น หลังจากนั้นจะกลับเข้าสู่สมดุลเดิมตราบเท่าที่ไม่มีการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก สภาพของชายหาดแสดงดังรูปที่ 1
ด้านทิศใต้เป็นชุมชนและมีสะพานปลา ชาวบ้านใช้ชายหาดเพื่อการจอดเรือและเป็นท่าขึ้นลงสัตว์น้ำ มีกำแพงกันคลื่นสูง 1 เมตรของเดิมอยู่ โซนกลางของหาดเป็นพื้นที่เอกชนทั้งที่ยังรกร้างและมีการปลูกสร้างบ้านเรือนและรีสอร์ทแล้ว และส่วนเหนือสุดเป็นที่เอกชนแต่ยังรกร้างและปลายสุดเป็นวัดอ่าวน้อยซึ่งอยู่ติดกับหัวเขาคั่นกระได
ข้อเท็จจริงของโครงการที่เกิดขึ้น
กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาวตลอดแนว 1.1 กิโลเมตรโดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส มีลักษณะแสดงดังรูปที่ 2 โดยมีการปรับภูมิทัศน์ด้านหลังกำแพงเพื่อทำสันกำแพงและพื้นที่เอนกประสงค์รองรับการท่องเที่ยว
ประเด็นเชิงกายภาพ
จากรายงานการศึกษาของเจ้าของงานเองพบว่าแม้ไม่มีโครงการนี้ในอีก 25 ปี ชายหาดทางตอนใต้ที่เป็นชุมชนนั้นจะไม่มีการกัดเซาะใดๆ ส่วนทางทิศเหนือติดกับวัดอ่าวน้อยนั้นจะมีการกัดเซาะเพียง 0.8 ม./ปี เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากจัดเป็นชายหาดที่ยังคงมีเสถียรภาพ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวพบว่าโครงการนี้แทบไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้างเลย
เมื่อพิจารณารูปแบบโครงสร้างที่นำมาใช้ นับว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับความกว้างของชายหาดอ่าวน้อย เนื่องจากว่าโครงสร้างกำแพงนี้ จะวางทับไปบนชายหาดโดยกินพื้นที่ความกว้างชายหาดเกือบทั้งหมด จากแบบรายละเอียดโครงสร้างกำแพงพบว่ามีการถมทะเลบางส่วนเนื่องจากโครงสร้างยื่นล้ำลงไปในทะเล และเมื่อระดับน้ำลงต่ำสุดก็ยังพบว่ามีบางส่วนของโครงสร้างอยู่ใต้น้ำ นั่นหมายความว่ายามน้ำขึ้นโครงสร้างบางส่วนจะจมอยู่ใต้น้ำและจะไม่สามารถเดินบนชายหาด หรือแม้แต่กระทั่งมองเห็นชายหาดได้ โดยจะสามารถเดินและมองเห็นหาดทรายเฉพาะยามน้ำลงเท่านั้น ทั้งที่ก่อนจะมีการก่อสร้างชายหาดอาจหดสั้นลงบ้างในบางฤดูกาล แต่ในทุกฤดูกาล ยังมีหาดทรายให้เห็นและเดินเล่นได้
ในระยะแรกๆของการก่อสร้างกำแพงป้องกันชายฝั่ง อาจยังพอให้เห็นทรายด้านหน้าโครงสร้างอยู่บ้างยามน้ำลง เพราะมีการนำทรายมาถมทับด้านหน้าหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป หาดทรายด้านหน้ากำแพงจะหายไปจากอิทธิพลของคลื่นที่วิ่งเข้าปะทะโครงสร้างและดึงเอาทรายด้านหน้ากำแพงออกไปนอกฝั่ง คลื่นขนาดเล็กที่เคยพาทรายมาทับถมบนหาดตามกระบวนการธรรมชาติจะไม่เกิดขึ้นอีก แม้ว่ายามน้ำลงคลื่นอาจวิ่งไม่ถึงที่จะปะทะโครงสร้าง แต่เมื่อยามน้ำขึ้นก็จะส่งผลกระทบลักษณะนี้สะสมไปเรื่อยๆ จนชายหาดด้านหน้ากำแพงค่อยๆหายไปอย่างถาวร น้ำหน้ากำแพงลึกขึ้น ชายหาดที่เคยมีลักษณะลาดเอียงตามธรรมชาติเสียสมดุลไป ลักษณะนี้มีให้เห็นแล้วจากผลกระทบของกำแพงกันตลิ่งลักษณะเดียวกันที่บริเวณอ่าวประจวบฯ หาดเขากะโหลก หาดปากน้ำปราณ และอีกหลายที่ใน จ.ประจวบฯ ที่สร้างกำแพงในลักษณะเช่นเดียวกันนี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ของพื้นที่
หากนับถึงวันที่ศาลปกครองเพชรบุรีสั่งคุ้มครองชั่วคราว (ตุลาคม 2559) โครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปส่วนหนึ่ง คือกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาว 140 เมตร ทางทิศใต้ของชายหาดติดกับกำแพงกันคลื่นเดิมที่สร้างโดยท้องถิ่นแสดงดังรูปที่ 3 โดยในส่วนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่มีต่อพื้นที่ถัดไปนัก เนื่องจากในช่วงก่อสร้างทางผู้รับจ้างได้มีการถมทรายและดินลูกรังทำถนนเพื่อขนถ่ายวัสดุด้านหลังแนวที่จะสร้างกำแพง ทำให้พื้นที่ชายหาดถูกขยายให้กว้างขึ้นบางส่วน จึงยังคงไม่พบร่องรอยของการกัดเซาะด้านทิศเหนือของโครงสร้างมากนัก ส่วนชายหาดด้านหน้ากำแพงที่สร้างเสร็จแล้วนั้นจะสามารถมองเห็นได้เฉพาะช่วงน้ำลงเท่านั้น ช่วงน้ำขึ้นเต็มที่คลื่นจะซัดมาปะทะและมีบางส่วนกระเซ็นขึ้นมาบนสันของกำแพง
ความเป็นมาของคดี และรายละเอียดอื่นๆ ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก E-Book : https://beachlover.net/การฟ้องคดีปกครอง/