คดีสมิหลา-ชลาทัศน์ จ.สงขลา

โครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ เขตเทศบาลนครสงขลา

สภาพทั่วไปของพื้นที่

ชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา เป็นชายหาดทรายยาวประมาณ 7.8 กิโลเมตร ตั้งแต่หัวนายแรงถึงแหลมสนอ่อน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสงขลาและละแวกใกล้เคียง พื้นที่นี้มีจุดเริ่มต้นการกัดเซาะชายฝั่งมาตั้งแต่ปลายปี   2545 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมรูปแบบต่างๆเพื่อป้องกันชายฝั่งมาตลอด แต่ยิ่งส่งผลให้การกัดเซาะนั้นขยายตัวลุกลามไปทางพื้นที่ด้านทิศเหนือของชายหาด จากระยะกัดเซาะเพียงไม่กี่สิบเมตร ปัจจุบันมีโครงสร้างป้องกันแบบกำแพงหินทิ้งและกำแพงกระสอบทรายยาวประมาณ 2 กิโลเมตร

ข้อเท็จจริงของโครงการที่เกิดขึ้น

โครงการป้องกันชายหาดฯได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงประมาณ มิถุนายน 2558 โดยใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งเป็นแท่งคอนกรีตต่อกันเป็นแนวยาวรวม 48 เมตรต่อ 1 แถว รวม 17 แถว ตลอดความยาวชายหาด 1.1 กิโลเมตร พร้อมการถมทรายเสริมเพื่อเพิ่มความกว้างชายหาดไปอีก 30-50 เมตร ตลอดแนว  รวมใช้ทรายประมาณ 144,000 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณรวม 17.5 ล้านบาท โดยแยกการดำเนินงานเป็น 2 เฟส ตามรูปที่ 1  มีกำหนดแล้วเสร็จปลายตุลาคม 2558

ประเด็นเชิงกายภาพ

โครงสร้างป้องกันชายฝั่งในโครงการนี้เป็นรูปแบบที่ไม่ปรากฎว่ามีการใช้งานมาก่อนทั้งในไทยและต่างประเทศ วัสดุที่ใช้มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมสำหรับโครงสร้างที่ต้องทนรับแรงคลื่นและน้ำทะเล อีกทั้งการวางตัวของโครงสร้างตั้งฉากกับชายฝั่งในลักษณะนี้เรียกว่ารอดักทรายหรือ “Groin” ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ชายหาดทางทิศเหนือของโครงสร้างตัวสุดท้ายเกิดการกัดเซาะลุกลามไปเรื่อยๆ และที่สำคัญ โครงสร้างป้องกันลักษณะนี้จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)  ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยสรุปแล้วเชิงกายภาพมีข้อห่วงกังวลดังรูปที่ 2

ผลกระทบที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ของพื้นที่

แม้มีการฟ้องคดี แต่โครงการนี้มิได้ยุติการดำเนินการ ยังคงเดินต่อเรื่อยๆแต่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากแท่งคอนกรีตในรูปแบบตัว I ตามที่กล่าวไว้ในหัวข้อข้อเท็จจริง เป็นตัว T และปรับเป็นการเติมทรายอย่างเดียว โดยนำทรายมาจากแหลมสนอ่อนโดยขนถ่ายผ่านรถบรรทุกและนำมาเทลงที่หน้าชายหาด และใช้รถเกลี่ยให้เสมอกับสันชายหาดเดิม ส่งผลให้ชายหาดที่แหลมสนอ่อนเสียหายอย่างหนักเนื่องจากมีการนำดินลูกรังเททับบนชายหาดเพื่อทำถนนรองรับการขนถ่านทราย และยังส่งผลให้เกิดหลุมขนาดใหญ่จากการขุดทรายหน้าชายหาดอีกด้วย ส่วนบริเวณที่นำทรายมาเติมมิได้มีการปรับชายหาดให้มีความลาดชันตามเดิม ชายหาดเกิดเป็นหน้าผาชันและน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดงจากทรายที่ผสมมากับดินลูกรัง

หลังจากนั้นไม่นาน ทรายที่ได้เติมไว้ด้านหน้าหาด ซึ่งไม่ทราบจำนวนและไม่ได้แล้วเสร็จตามที่ได้ตั้งโครงการไว้ ก็ถูกน้ำทะเลเซาะหายไปในที่สุด แสดงดังรูปที่ 3 ส่วนพื้นที่แหลมสนอ่อนแม้ธรรมชาติจะค่อยๆเยียวยาตัวเองได้ แต่ถนนดินลูกรังยังคงทับอยู่บนสันทรายยาวเกือบตลอดแนว ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของแหลมสนอ่อนเสียหายบางส่วน