หาดชะอำใต้ ได้ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์อีกครั้งเมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 ด้วยเหตุที่ช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมหาดชะอำ จ.เพชรบุรี แล้วพบว่า มีสภาพต่างไปจากเดิมที่เคยเห็นมาก หาดสาธารณะที่แม้จะไม่สวยงามมากเหมือนแถบหัวหินหรือหาดชะอำเหนือ แต่ก็ยังมีชายหาดให้ลงเล่นน้ำหรือนั่งสบายๆริมชายหาดได้บ้าง ปัจจุบันบางส่วนได้ถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งรูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได เจ้าของโครงการคือกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยงบประมาณรวม 226.437 ล้านบาท หากโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์จะมีระยะทางตามแนวชายฝั่งรวมกว่า 3 กิโลเมตร
Beach Lover เป็นที่แรกที่ได้รวบรวมทั้งรายละเอียดงบประมาณและนำเสนอเรื่องราวของโครงการป้องกันชายฝั่งนี้มาตั้งแต่ทราบว่าจะมีการก่อสร้างในปี 2563 ติดตามได้จาก https://beachlover.net/หาดขั้นบันได-ชะอำ/ และ https://beachlover.net/ความคืบหน้างานก่อสร้างหาดขั้นบันได-หาดชะอำใต้/ และ https://beachlover.net/หาดชะอำช่วงโควิด-ยังสบายดี/ หรือใช้ Search Icon มุมขวาบนของหน้าเวบเพื่อค้นหาคำว่า “ชะอำ” ก็ได้เช่นเดียวกัน
งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ณ ชายหาดชะอำปัจจุบันประกอบด้วย 3 ระยะ (1) งบประมาณปี 2562 ช่วง กม.0+780-2+228 ยาว 1.438 กิโลเมตร งบประมาณ 102.974 ล้านบาท (2) งบประมาณปี 2563 ช่วง กม.2+228 – 2+985 ยาว 1.219 กิโลเมตร งบประมาณ 74.963 ล้านบาท (3) งบประมาณปี 2564 ช่วง กม.0+000 – 0+318 ยาว 0.318 กิโลเมตร งบประมาณ 48.5 ล้านบาท รวมระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ตั้งแต่สามแยกที่เป็นลานเอนกประสงค์เรื่อยลงไปทางทิศใต้ของหาดชะอำใต้
ในช่วงสัปดาห์เดียวกันก็มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดชะอำโดยกรมเจ้าท่า ด้วยงบประมาณกว่า 18 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาสำรวจออกแบบ และเป็นคนละรูปแบบกันกับที่กำลังก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่ง Beach Lover ได้เคยนำเสนอรวมถึงตั้งข้อสังเกตกับประเด็นที่ทับซ้อนกันของโครงการนี้ไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ติดตามอ่านได้จาก https://beachlover.net/กัดเซาะ-ชะอำ-เอาไงดี/
สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตคือ โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเหมือนกันจากคนละหน่วยงาน บนพื้นที่เดียวกันนี้ ได้มีการปรึกษาหารือ หรือที่เรียกเป็นคำพูดที่สวยหรูเข้ากับยุคสมัยว่า “บูรณาการ” กันหรือไม่ ในขณะที่หน่วยงานหนึ่งกำลังก่อสร้างกำแพง จะมีผลต่องานศึกษาเพื่อสำรวจออกแบบการเติมทรายของอีกหน่วยงานหรือไม่
จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการร่มเตียงริมชายหาดชะอำใต้ มีทั้งเห็นด้วยกับโครงการและไม่เห็นด้วย แต่ทุกคนอยากได้ชายหาดทรายกลับมา พร้อมๆกับความอยู่รอดปลอดภัยจากการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากนักท่องเที่ยวย่อมอยากมานั่งพักผ่อนสบายๆริมทะเลที่มีหาดทราย มากกว่ามานั่งบนสันกำแพงคอนกรีตริมชายหาด
เป็นความจริงหรือ ที่ว่าหากเราเลือกให้กิจการร่มเตียงและร้านอาหารริมชายหาดอยู่รอดปลอดภัย เราจำเป็นต้องแลกกับการสูญเสียพื้นที่หน้าหาดไป เราต้องแลกเพราะไม่มีทางเลือก หรือรัฐปิดทางเลือกของเรากันแน่ … อันนี้ชวนคิด