เขื่อนกันทรายและคลื่นปากน้ำตะโก จ.ชุมพร (Jetty)
ปากน้ำตะโก อยู่ในอำเภอทุ่งตะโก ทิศเหนือของปากน้ำหลังสวน สภาพก่อนการสร้าง jetty นั้น เป็นไปตามภาพ Google earth ในปี 2558
ในปี 2554 กรมเจ้าท่าได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่ร่องน้ำปากตะโก จังหวัดชุมพร โดยให้เหตุผลความจำเป็นว่า สภาพร่องน้ำประสบปัญหาการตื้นเขิน เนื่องจากในฤดูมรสุมคลื่นลมและกระแสน้ำพัดพาตะกอนดินทรายมาทับถมที่บริเวณปากแม่น้ำจนทำให้เกิดสันดอน ส่งผลให้ชาวประมงที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ไม่สามารถสัญจรผ่านเข้า-ออกได้สะดวก ปัญหาร่องน้ำตื้นเขินจึงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ ชาวประมงส่วนใหญ่ขาดรายได้ ทำให้ต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จึงได้ดำเนินการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำอยู่เป็นประจำ แต่ยังไม่สามารถบรรเทาปัญหาร่องน้ำตื้นเขินได้ทันท่วงที ตามความต้องการของประชาชน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีค่าบำรุงรักษาต่ำ อันเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐบาลในระยะยาว กรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำฯ อันได้แก่ การก่อสร้างท่าเทียบเรือ เขื่อนกันทรายและคลื่น ร่องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ จึงได้ว่าจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้มีความชำนาญงานในด้านวิศวกรรมชายฝั่ง เป็นวิศวกรที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น ที่ร่องน้ำปากตะโก จังหวัดชุมพร ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงจากปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน และให้เกิดความปลอดภัยแก่ชาวประมงในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการให้ราษฎรที่ประกอบอาชีพประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงอีกทางหนึ่งด้วย (http://www.publicconsultation.opm.go.th/phs/new_phs_proj_view.asp?editId=P531229001)
หลังจากนั้นเริ่มเห็นการก่อสร้างโครงสร้างปากร่องน้ำด้านทิศเหนือของปากน้ำตะโกยาวเกือบ 200 เมตร ตามภาพในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560
และดำเนินการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จเมื่อกันยายน 2562 ด้วยงบประมาณ 206.7 ล้านบาท (http://www.publicconsultation.opm.go.th/phs/new_phs_proj_view.asp?editId=P531229001)
ตามแบบรายละเอียดที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกแบบไว้นั้นปลายสุดของโครงสร้างอยู่ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 3 เมตรจากระดับน้ำต่ำสุด ซึ่งเพียงพอต่อการสัญจรของเรือแถบนั้นที่กินน้ำลึกที่สุดไม่เกิน 2.5 เมตร ที่มา: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2554
พบว่าทิศเหนือของปากน้ำมีโครงสร้างยื่นยาวออกไปถึงสองตัว จากภาพถ่ายมุมสูงเมื่อต้นเดือน ธันวาคม 2562 โดยทีม Beach lover แสดงดังรูป
โครงสร้างปากร่องน้ำลักษณะนี้ไม่พบเห็นที่ปากร่องน้ำอื่นในประเทศไทย ตามปกติแล้วลักษณะของเขื่อนกันคลื่นปากร่องน้ำจะประกอบด้วยโครงสร้างถมหินหรือกำแพงคอนกรีตยื่นยาวออกไปจนถึงร่องน้ำลึก 1 หรือ 2 ด้าน เท่านั้น (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากโพสที่เกี่ยวข้องในเวบนี้)
โครงสร้างนี้เพิ่งแล้วเสร็จได้ไม่นาน น่าติดตามต่อว่า ลักษณะของ Jetty ที่ไม่เคยพบเห็นที่ปากแม่น้ำใดมาก่อนรูปแบบนี้ จะมีประสิทธิภาพต่อการเดินเรือ และผลกระทบต่อชายฝั่งใกล้เคียงอย่างไร