เกเบี้ยนและรั้วไม้ ณ หาดม่วงงาม ยามนี้

จากข้อมูลสำรวจวันที่ 20 มี.ค.2564 พบว่าสภาพของไม้ที่ปักยังคงอยู่ดีและอยู่ในแนวเดิมตามรูป A และยังพบร่องรอยของทรายหน้าชายหาดถูกเกลี่ยและปรับแต่งให้เรียบร้อย (ไม่ทราบหน่วยงาน) ในตำแหน่งที่กรมโยธาและผังเมืองอ้างว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง (ทิศใต้/ทิศเหนือ/ด้านหน้า ของลานปูนซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการเพียงบางส่วน) ซึ่งนั่นหมายความว่า การดำเนินมาตรการป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวร่วมกับการปรับแต่งหาดทรายให้เรียบร้อยหลังมรสุม นั้นก็เพียงพอแล้วกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากชายหาดถูกกัดเซาะ 

รูป Aโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวดำเนินการโดยเทศบาลเมืองม่วงงาม ซึ่งบางส่วนไม่ได้อยู่ในพื้นที่
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะที่ 1 และ 2 หาดม่วงงาม
(ภาพบนเมื่อมิถุนายน 2563 ภาพล่างเมื่อ 20 มีนาคม 2564)

แม้กระทั่งแนวป้องกันแบบเกเบียนเดิมที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้สร้างไว้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้อ้างว่าชำรุดเสียหายจนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการดำเนินโครงการนี้ ณ ชายหาดม่วงงาม จากข้อมูลสำรวจสนามพบว่ายังสามารถป้องกันพื้นที่ชายฝั่งได้ในช่วงมรสุม แม้ไม่ได้สมบูรณ์เหมือนเมื่อครั้งสร้างใหม่ๆ เนื่องจากมีการชำรุดเสียหายไปบ้างตามการใช้งาน พบว่าโดยส่วนมากของเกเบี้ยนเดิมยังคงใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ (รูปที่ B และ C)  เพราะหากเสียหาย 100% และป้องกันไม่ได้ ควรจะพบร่องรอยของการซ่อมแซมถนนบ้าง แต่ตามหลักฐานพบว่าไม่มีร่องรอยการซ่อมแซมในพื้นที่โครงการแต่ประการใด (ติดตามได้จาก Link: https://www.youtube.com/watch?v=eBsizPSlqh0) ที่บันทึกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ในหมู่ที่ 7 และ 8 ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการในระยะที่ 1 และระยะที่ 2)

รูป B พื้นที่โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะที่ 1 และ 2 หาดม่วงงาม
(ภาพเมื่อ 20 มีนาคม 2564)
รูป C แนวเกเบี้ยนป้องกันชายฝั่งที่มีอยู่เดิมในพื้นที่โครงการ (ภาพเมื่อ 20 มีนาคม 2564)

หากแม้ว่าโครงสร้างเกเบี้ยนนี้จะมีชำรุดเสียหายไปบ้างตามสภาพการใช้งาน ก็ควรใช้วิธีการซ่อมแซมให้โครงสร้างกลับมาทำหน้าที่ได้อีกครั้ง ด้วยงบประมาณไม่มากมายขนาดที่ต้องใช้เพื่อการสร้างโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบขั้นบันได และยังไม่นำพาความเสียหายต่อชายหาดที่ยังคงสมบูรณ์อีกด้วย