หาดแตงโม เกาะสุกร กำลังจะมีกำแพง (เพิ่ม)!

เกาะสุกร หรือ เกาะหมู ได้ชื่อว่าเป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.ตรัง ตั้งอยู่ที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะสุกรส่วนใหญ่กว่า 98% เป็นชาวมุสลิม มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง มีจุดขายคือเป็นแหล่งปลูกแตงโมที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง และส่งออกไปในหลายจังหวัด และมีฝูงควายทะเลพื้นถิ่นฝูงสุดท้าย

ท่าเรือบนเกาะสุกร ทางทิศเหนือของเกาะ
ถนนบนเกาะ

บนเกาะสุกรนี้พบฝูงควายพื้นบ้านกว่า 300 ตัว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ควายทะเล บริเวณตลอดแนวชายหาดแตงโม หมู่ที่ 2 บ้านแหลม และหมู่ที่ 3 บ้านทุ่ง หรือทางด้านทิศใต้ของเกาะสุกร มีอยู่ประมาณ 5 ฝูง โดยสามารถพบเห็นได้เพียงแห่งเดียวของไทย จะทยอยกันลงไปเล่นน้ำทะเลวันละ 2 รอบ คือ ตอนเช้าตรู่ตั้งแต่เวลา 05.30 น. และตอนเย็นพลบค่ำตั้งแต่เวลา 18.00 น. หรือช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและก่อนพระอาทิตย์ตก ควายตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่จะเดินลงทะเลเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบเล่นน้ำทะเลอย่างสนุกสนาน เป็นอีกมนต์เสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนหลงใหล (https://www.prachachat.net/)

ควายทะเล (ที่มา: https://www.prachachat.net/local-economy/news-489045)
ถนนบนเกาะและควายทะเล

บนเกาะมีถนนคอนกรีตสภาพดีเดินทางได้เกือบรอบเกาะ (ยกเว้นเฉพาะบริเวณที่เป็นป่าชายเลนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ) มีรถสามล้อไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการท้องถิ่น มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ รวมถึงที่พักแบบ Home stay ก็กำลังเพิ่มมากขึ้นด้วย

ถนนบนเกาะ และ ร้านกาแฟ

บนเกาะแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 8,750 ไร่ โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นเนื้อที่ราบ จึงถูกนำไปใช้ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะบริเวณชายหาด หมู่ 2 และ หมู่ที่ 3 ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 700 ไร่นั้น มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายตามแนวชายหาดและมีฝนฟ้าตกตลอดช่วงฤดูกาล จึงเป็นแหล่งผลิตแตงโมที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เนื่องจากมีเนื้อสีแดง รสหวานกรอบ เนื้อแน่น และผลโต โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยลูกละ 4 กิโลกรัม (https://www.posttoday.com/economy/sme/384683) โดยพื้นที่ปลูกแตงโมที่ว่านี้ อยู่บริเวณใกล้ๆกับหาดแตงโม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะ

พื้นที่ปลูกแตงโม

Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพชายหาดแตงโมของเกาะสุกรในช่วงปลายเดือนมีนาคม พบว่า ชายหาดมีความลาดชันต่ำมาก ทรายบนชายหาดสีค่อนข้างคล้ำและมีลักษณะเป็นโคลนปนทราย และพบว่ามีกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่สร้างเสร็จไปบ้างแล้ว และกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมอีก ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

พื้นที่ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดระยะที่ 3 ณ หาดแตงโม

พื้นที่ด้านในของหาดแตงโมนั้น เป็นพื้นที่ราบ มีลักษณะเป็นดินร่วนบนทราย ถือเป็นแหล่งผลิตแตงโมที่ใหญ่ที่สุดของเกาะ (จึงถูกตั้งชื่อว่าหาดแตงโม) ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลของการมีอยู่ของกำแพงกันคลื่นเดิม (ระยะที่ 1-2) เพื่อป้องกันพื้นที่ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเกาะ และนี่ก็คงเป็นเหตุผลสำคัญของการมาถึงของกำแพงกันคลื่นที่กำลังก่อสร้างในระยะที่ 3 และแผนในอนาคตของโครงการในระยะที่ 4

พื้นที่ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดระยะที่ 3 ณ หาดแตงโม

โครงการกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่เห็นว่ากำลังก่อสร้างอยู่นี้ เป็นระยะที่ 3 ถัดจากโครงการเดิมโดยหน่วยงานเดิม โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 49.43 ล้านบาท มีระยะทางตามแนวชายฝั่ง 603 เมตร ดำเนินการโดยบริษัทตากใบการโยธา

ที่มา: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ
พื้นที่ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดระยะที่ 3 ณ หาดแตงโม

ถัดไปทางทิศตะวันตกของหาดแตงโม พบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยกำแพงกันคลื่นระยะที่ 3 นี้จะมาเชื่อมต่อกับโครงสร้างเดิมบริเวณตามภาพด้านล่าง

ตามแผนของหน่วยงาน ถัดจากกำแพงกันคลื่นในระยะที่ 3 นี้ จะมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในระยะที่ 4 โดยใช้งบประมาณแผ่นดินประจำปี 2564 และผูกพันถึงปี 2566 จำนวน 42.87ล้านบาท มีระยะทางตามแนวชายฝั่ง 0.3 กิโลเมตร (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/งบประมาณตั้งใหม่-2564/) โดยโครงการนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว

จากสองภาพด้านบน สังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ตัวกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดนี้วางทับลงไปบนชายหาด โดยฐานกำแพงยื่นล้ำลงไปในน้ำค่อนข้างมาก ซึ่งหมายความว่า กำแพงนี้จะรบกวนกระบวนการชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติมากเช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จาก https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-3-พื้นที่/)

Beach Lover ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การกัดเซาะในพื้นที่นี้ แต่จากสภาพของหาดแตงโมที่พบในช่วงเวลาที่สำรวจนั้น ไร้ร่องรอยของการกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้ต้องใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่วางทับลงไปบนชายหาด อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ว่าชายหาดแห่งใดกัดเซาะหรือไม่นั้น มิอาจตัดสินได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยการสำรวจเพียงครั้งเดียว จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และวินิจฉัยตามหลักวิชา

หากการกัดเซาะบนพื้นที่หาดแตงโมนี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจริง และไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจำเป็นต้องใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของเกาะ ก็ควรเลือกใช้โครงสร้างที่ไม่ยื่นล้ำลงไปบนชายหาดมากนัก เพื่อให้กระบวนการทางธรรมชาติถูกรบกวนให้น้อยที่สุด เพราะผลกระทบการอาจเกิดขึ้นด้านท้ายน้ำบริเวณสุดปลายกำแพงนั้นยากจะเยียวยาได้หากเกิดขึ้นจริง

หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติม Beach Lover จะนำมาเสนอในโอกาสถัดไป