น้ำท่วมชายฝั่ง ปานาเระ ปัตตานี

สืบเนื่องจากภาพข่าวและวีดีโอคลิปที่ถูกเผยแพร่กันไปเมื่อคืนวันที่ 12 มกราคม 2564 ถึงเหตุการณ์ที่น้ำทะเลไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่แถบชายหาดปานาเระ หาดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของ จ.ปัตตานี ตามคลิป https://www.facebook.com/watch/live/?v=3863633530334021&ref=watch_permalink และ https://www.youtube.com/watch?v=58USfzLARGw

ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=58USfzLARGw

ปรากฏการณ์น้ำทะเลเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่ง (Coastal flooding) ลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในช่วงน้ำเกิด (Spring tide) ซึ่งก็คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งมีทั้งข้างขึ้น (Full moon) และข้างแรม(New moon) สำหรับเหุตการณ์ในครั้งนี้เราจะไม่เห็นดวงจันทร์ เพราะเป็นคืนเดือนมืด หรือแรม 15 ค่ำนั่นเอง ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มกราคม

จากข้อมูลระดับน้ำทำนาย ณ ปากน้ำปัตตานี โดยกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ (http://www.hydro.navy.mi.th/tide64/21-PN2021.pdf) แสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลาที่มีการถ่ายคลิป VDO ในคืนวันที่ 12 มกราคมนั้น เป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงสุดของพอดี (รูปล่างในกรอบสีแดง)

ข้อมูลระดับน้ำทะเลทำนาย ณ ปากน้ำปัตตานี โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

นอกจากนั้น ในช่วงวันที่ 12 มกราคม เป็นช่วงที่เกิดความกดอากาศสูงหลายพื้นที่ในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทยเกิดคลื่นสูง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปรากฏชัดจากผลการพยากรณ์คลื่นทะเลในวันที่ 12 มกราคม 2564 โดยกรมอุตุนิยมวิทยา (http://www.wamwatt.tmd.go.th/waverisk/waveriskloop.html)

ผลวิเคราะห์แบบจำลอง WAM เพื่อพยากรณ์คลื่นในทะเล โดยกรมอุตุนิยมวิทยา

จะพบว่าเมื่อทั้งสองเหตุการณ์คือระดับน้ำทะเลหนุนสูงเพราะเป็นช่วงน้ำเกิด ประกอบกับคลื่นสูงขึ้นช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ก็อาจส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่ง (Low land) เกิดน้ำทะเลเข้าท่วมได้

และเนื่องจากเหตุการณ์นี้สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้วจากข้อมูลระดับน้ำทำนายโดยกรมอุทกศาสตร์ ซึ่งทำนายระดับน้ำทะเลล่วงหน้า 1 ปี ร่วมกับผลการพยากรณ์อากาศและคลื่นทะเลจากกรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานที่รับผิดชอบควรแจ้งเตือนชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งให้ยกของขึ้นที่สูง หรือเตรียมการรองรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

เมื่อข้อมูลพร้อม เทคโนโลยีการพยากรณ์พร้อม คงขาดแต่ความร่วมมือและ Action ของหน่วยงานที่จะแจ้งเตือน ให้ความรู้ และออกมาตรการเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ