ชายหาดกัดเซาะแบบไหน “ชั่วคราว”หรือ”ชั่วโคตร”[4 มิ.ย.2563]

“ชายหาดถูกกัดเซาะหรือไม่” เป็นประเด็นถกเถียงหลัก ของความขัดแย้งในโครงการป้องกันชายฝั่งหาดม่วงงาม และคำตอบจากคำถามนี้ จะนำไปสู่การเลือก “ใช้” หรือ “ไม่ใช้” มาตรการเพื่อป้องกันชายฝั่ง

Beach lover อยากชวนไปดูภาพการเปลี่ยนแปลงชายหาดในสองลักษณะของ จ.สงขลา เพื่อชวนคิดต่อ ภาพแรกเป็นการกัดเซาะด้านหน้าโรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท (รายละเอียดติดตามได้จาก https://beachlover.net/หาดหน้าโรงแรมหาดแก้ว/ ) และ ภาพที่สอง คือการเปลี่ยนแปลงชายหาดม่วงงาม (รายละเอียดติดตามได้จาก https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-3-5/ )

ภาพแรกแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2556-2558 ของชายหาดหน้าโรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท แต่ในปี 2560 เริ่มสังเกตเห็นการกัดเซาะอย่างชัดเจนอันเนื่องมาจากผลกระทบของกำแพงกันคลื่นทางทิศใต้ (ด้านขวาของภาพ) ลักษณะเช่นนี้จะเป็นการกัดเซาะแบบถาวร หรือการกัดเซาะที่อาจเรียกง่ายๆว่า “การกัดเซาะแบบชั่วโคตร” โดยที่ชายหาดจะไม่สามารถกลับคืนสมดุลเดิมได้อีกต่อไป จนท้ายสุดก็ไม่สามารถสู้กับการกัดเซาะได้จนต้องสร้างกำแพงกันคลื่นขนาดใหญ่เพื่อป้องกันพื้นที่ตามที่ปรากฏให้เห็นในภาพปี 2562

การเปลี่ยนแปลงชายหาดหน้าโรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท ปี 2556-2562

ภาพที่สอง แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายหาดม่วงงามเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2556-2562 และไม่ปรากฏให้เห็นการกัดเซาะเข้ามาถึงด้านในถนนอย่างชัดเจนเลย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าไม่มีภาพที่ถูกบันทึกไว้ในช่วงที่หาดถูกกัดเซาะ แต่จากการวิเคราะห์โดยในภาพถ่ายดาวเทียมตามที่แสดงรายละเอียดไว้ใน https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-3-5/ นั้น พบว่าชายหาดม่วงงามหมู่ที่ 7 เกิดการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเท่านั้น มีการกัดเซาะทับถมสลับกันไปในปริมาณเพียงเล็กน้อย สุทธิแล้วตั้งแต่ปี 2556-2562 พบการทับถมของชายหาดประมาณ 1.9 เมตร ต่อปี การกัดเซาะที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล เกิดขึ้นเพียงบางครั้งบางคราวในระยะสั้นๆนี้ เรียกว่า “การกัดเซาะแบบชั่วคราว” โดยชายหาดจะสามารถกลับเข้าสู่สมดุลเดิมได้เองตามธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงชายหาดม่วงงามหมู่ 7 ปี 2556-2562 (2013-2019)

หาก “จำเป็น” มาตรการที่ใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ “การกัดเซาะแบบชั่วคราว” นี้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ชายหาด คือ โครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบ “ชั่วคราว ไม่ใช่ชั่วโคตร” เพราะเมื่อไหร่ที่เรานำโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วโคตรมาใช้เพื่อป้องกันการกัดเซาะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ตัวโครงสร้างป้องกันชายฝั่งนั้นเองจะเป็นตัวเร่งให้ชายหาดในส่วนถัดๆไปที่อาจเคยเปลี่ยนแปลงแบบชั่วคราวมาตลอด กลายเป็น การกัดเซาะแบบชั่วโคตรทันที ตามที่ปรากฏชัดที่หาดด้านหน้าโรงแรมหาดแก้วรีสอร์ทที่เคยเปลี่ยนแปลงชั่วคราว แต่หลังจากการเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นทางทิศใต้ ชายหาดบริเวณนั้นเปลี่ยนจากการเปลี่ยนแปลงแบบชั่วคราว มาเป็น ชั่วโคตร ในทันที และจะไม่มีวันกลับไปเป็นแบบเดิมได้อีก ชายหาดได้เสียสมดุลไปแล้วอย่างถาวร จนเป็นเหตุให้ต้องนำโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วโคตรมาใช้

หาก “ไม่จำเป็น” หมายถึงการกัดเซาะแบบชั่วคราวนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ประโยชน์ชายหาด ทรัพย์สิน สวัสดิภาพสาธารณะ ก็ไม่มีเหตุผลใดๆที่ต้องใช้มาตรการป้องกันชายฝั่ง อย่างไรก็ตามเราก็ควรตระหนักถึงภัยที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าเนื่องจากความแปรปรวนของธรรมชาติที่มิอาจคาดเดาได้ โดยการเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับสันทรายชายหาด ป่าชายหาด ที่ทำหน้าที่เป็นปราการทางธรรมชาติเพื่อป้องกันคลื่นลมในช่วงที่อาจเกิดการกัดเซาะแบบชั่วคราวในครั้งถัดๆไป

Beach lover จะนำเสนอโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวในวาระถัดๆไป โปรดติดตาม