ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม (ตอนที่ 5/5: ประเด็นชวนคิด -ต่อ)

ความเสียหายที่เกิดจากการสร้าง ไม่ได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

จากรูปที่ 8 (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-2-5/) ยามน้ำลดลงถึงระดับน้ำลงเฉลี่ยช่วงน้ำเกิด (ระดับ -0.49 ม.รทก) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำมีพิสัยการขึ้นลงที่แตกต่างกันมากที่สุด เกิดในช่วงพระจันทร์เต็มดวงทั้งข้างขึ้นและข้างแรม พบว่าฐานของโครงสร้างกำแพงนี้จมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลตลอดเวลา (เสาเข็มต้นที่อยู่ฝั่งทะเลและแนวถุงทราย) เมื่อน้ำขึ้นจะมีบางส่วนของกำแพงที่อยู่ใต้น้ำเพิ่มเติม และเมื่อโครงสร้างอยู่ในแนวที่น้ำท่วมถึงคลื่นจะวิ่งเข้ามาถึง นั่นหมายถึงโครงสร้างนั้นกำลังรบกวนสมดุลของกระบวนการชายฝั่งทะเล แม้ตามแบบจะปรากฏชัดว่าจะมีการถมทรายกลับทับจนถึงบันไดขั้นที่สาม (จากด้านบน) แต่เมื่อคลื่นวิ่งเข้าปะทะทรายที่ถูกถมทับไปบนกำแพงขั้นบันได คลื่นจะค่อยๆชักเอาทรายด้านบนและด้านหน้าบันไดออกไป และเมื่อทรายด้านบนที่ถมทับถูกชักออกไปทั้งหมด คลื่นจะสามารถวิ่งเข้ามาปะทะกำแพงโดยตรงและจะส่งผลให้เกิดคลื่นสะท้อนด้านหน้ากำแพง ยิ่งเหนี่ยวนำให้ทรายด้านหน้ากำแพงถูกดึงออกนอกชายฝั่ง และชายหาดด้านหน้ากำแพงหดหายไปอย่างถาวร แสดงผลกระทบของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นดังรูปที่ 11

รูปที่ 11การกัดเซาะชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่น

นอกจากนั้นกำแพงจะยิ่งส่งผลให้ชายหาดส่วนถัดไปจากสุดปลายกำแพงเกิดการกัดเซาะได้เนื่องจากการเลี้ยวเบนของคลื่นและกระแสน้ำ แสดงดังรูปที่ 12 หากใช้มาตรการสร้างกำแพงกันคลื่น จำเป็นต้องสร้างตลอดทั้งแนว มิฉะนั้นพื้นที่ใกล้เคียงที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดผลกระทบดังรูปที่ 13 ซึ่งจะยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

รูปที่ 12 การกัดเซาะชายหาดส่วนถัดไปจากกำแพงกันคลื่น
รูปที่ 13 ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อพื้นที่ถัดไปที่ไม่มีการป้องกัน

งานป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้น โดยมากเป็นการดำเนินงานเฉพาะพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้วชายฝั่งทะเลเป็นเขตติดต่อที่ยาวต่อเนื่องกัน การดำเนินการในพื้นที่ใดย่อมส่งผลกระทบต่ออีกพื้นที่หนึ่งบริเวณใกล้เคียง พบว่าปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทะเลประเทศไทยส่วนใหญ่ต้นเหตุแห่งปัญหามาจากโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ซึ่งแท้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกัดเซาะ แต่กลับกลายเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาเสียเอง (https://www.tcijthai.com/news/2019/8/scoop/9314)

ประเทศที่มีดินแดนติดชายฝั่งหลายประเทศ โดยเรียนรู้จากบทเรียนเดิมที่เคยเกิดขึ้นว่า มาตรการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนั้นมีข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษาที่นับวันจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นว่ายิ่งสร้างโครงสร้างป้องกันยิ่งจะส่งผลให้ต้องสร้างต่อไปเรื่อยๆ เพราะชายหาดที่ไม่ถูกป้องกันจะถูกกัดเซาะเป็นโดมิโน่ (Domino effect) แนวโน้มของการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันจึงได้พยายามปรับเปลี่ยนวิธีการ จากการตรึงชายฝั่งให้อยู่กับที่โดยใช้โครงสร้างป้องกัน มาเป็นใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงน้อยที่สุด

สำหรับประเทศไทยนั้น หลายหน่วยงานได้ดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่  ล้วนแล้วแต่พบความเสียหายที่เกิดขึ้นตามรูปที่ 11 ถึง 13 ทั้งสิ้น ตัวอย่างของผลกระทบจากกำแพงกันคลื่น Beach Lover เคยนำเสนอไว้หลายครั้งแล้ว เช่น https://beachlover.net/หาดหน้าโรงแรมหาดแก้ว/ และ https://beachlover.net/ปลายกำแพง-ชิงโค/ ใน จ.สงขลา และ กำแพงใน จ.สตูล https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ละงู/ โดยพบว่า ณ ตำแหน่งที่สิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่น ชายหาดจะกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตั้งงบประมาณป้องกันการกัดเซาะต่อไปเรื่อยๆ (https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-3-พื้นที่/)

ดังนั้นจะพบว่ามาตรการการสร้างกำแพงกันคลื่นที่รัฐเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะที่หาดม่วงงามระยะทาง 630 เมตรในเฟสแรก ขัดต่อหลักแห่งความได้สัดส่วน กล่าวคือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ ทั้งชายหาดด้านหน้ากำแพงและพื้นที่ข้างเคียง ตลอดจนงบประมาณที่รัฐจะต้องเสียในปีถัดๆไปเพื่อการแก้ไขปัญหาและบำรุงรักษาโครงสร้าง

การเลือกมาตรการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจึงขัดต่อหลักแห่งความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบด้วย

จบ…ไม่บริบูรณ์

ติดตามเรื่องราวชายหาดม่วงงามและชายหาดอื่นๆผ่าน www.beachlover.net ได้ในวาระถัดไป