ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม (ตอนที่ 4/5: ประเด็นชวนคิด 1)

การใช้มาตรการที่เกินจำเป็น

จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งหาดม่วงงามทั้งภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลวิเคราะห์เชิงปริมาณ (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-3-5/) ข้อมูลจากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภาพถ่ายจากการออกภาคสนาม (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-1-5/) พบข้อมูลที่สอดคล้องตรงกันทั้งหมดว่าชายหาดม่วงงามนั้นไม่เกิดการกัดเซาะที่รุนแรงขนาดที่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่ (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-2-5/) การดำเนินโครงการนี้จึงขัดต่อหลักความจำเป็น รวมถึงมาตรการที่เลือกใช้นั้นพบว่าไม่ได้สมดุลกับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งรัฐต้องการแก้ไข

หากศึกษาแนวโน้มการกัดเซาะของหาดม่วงงามจากข้อมูลอดีต มีความน่าจะเป็นต่ำที่ชายหาดจะเกิดการกัดเซาะลึกเข้ามาจนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง แม้กระทั่งพายุใหญ่อย่างปาบึกที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2562 ก็ยังไม่ส่งผลให้หาดม่วงงามกัดเซาะอย่างมีนัยสำคัญ (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-1-5/)

” รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มั่นคงถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างไม่รุนแรง ไม่มีเหตุผลอย่างเพียงพอที่ต้องสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ทับลงบนชายหาดที่ยังสมบูรณ์ รัฐควรเลือกใช้แนวทางเลือกที่ได้สมดุลกับการกัดเซาะที่ต้องการป้องกัน” 

สำหรับหาดม่วงงามที่เกิดการกัดเซาะเพียงเล็กน้อยและเกิดเพียงชั่วคราว ก็ควรเลือกใช้มาตรการที่สอดคล้องเหมาะสมกับผลกระทบ เป็นต้นว่าโครงสร้างชั่วคราว ที่สามารถป้องกันการกัดเซาะระดับไม่รุนแรงและเกิดขึ้นแบบชั่วครั้งชั่วคราวได้ดี ดังที่ท้องถิ่นได้ดำเนินการแล้ว ในอดีต

โครงสร้างป้องกันชั่วคราว
(ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง)
โครงสร้างป้องกันชั่วคราว
(ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง)

เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วการกัดเซาะจะเกิดเพียงชั่วคราวตามฤดูกาล เว้นเสียแต่จะมีการแทรกแซงสมดุลของธรรมชาติชายฝั่งทะเลโดยกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การสร้างโครงสร้างล้ำลงไปกีดขวางการเคลื่อนที่ของของตะกอน โดยพบว่าบริเวณชายหาดที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดการกัดเซาะน้อยกว่า บริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงสร้าง อันเนื่องจากอิทธิพลของโครงสร้างชายฝั่งกีดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนทราย

“แม้ว่าต่อไปในภายภาคหน้า ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดการแทรกแซงสมดุลของชายฝั่งทะเลจนส่งผลให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะเข้ามาจนถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหรือเอกชน เมื่อถึงยามจำเป็นจึงค่อยพิจารณาป้องกันแก้ไขเฉพาะรายพื้นที่ ด้วยมาตรการที่สมดุลกับความเสียหายที่เกิดขึ้น”

จากรายการการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองพบว่ามาตรการที่เสนอให้ประชาชนได้ลงความเห็นล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการถาวรและเกินจำเป็นใช้งบประมาณมากโดยทุกมาตรการไม่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

แนวทางเลือกเพื่อป้องกันชายหาดม่วงงาม (ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง)

จึงตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการที่รัฐศึกษารวบรวมมาให้ประชาชนลงความเห็น และมาตรการที่ถูกเลือกให้เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ยังมีมาตรการอื่นๆที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ คือการป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวในช่วงฤดูกาลมรสุมช่วงสั้นๆหรือช่วงใดช่วงหนึ่งโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเท่ากับโครงการที่รัฐกำลังดำเนินการ

โครงสร้างป้องกันชายฝั่งลักษณะเช่นนี้จึงขัดต่อหลักความจำเป็น

โปรดติดตามตอนที่ 5/5: ประเด็นชวนคิด(ต่อ) ได้ ผ่าน www.beachlover.net