ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา: ความเป็นมา(ตอนที่ 1/4)

หาดมหาราช หาดทรายชายทะเลที่สงบร่มรื่นและมีความเป็นส่วนตัวมาก หาดทรายขาวน้ำไม่ลึกมากสามารถเล่นน้ำได้ มีชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสน มีการจัดแต่งเป็นที่พักผ่อนที่ชมทิวทัศน์ ให้ความสะดวกในการพักผ่อนที่กลมกลืนกับธรรมชาติพอสมควร ด้านหลังแนวหาดเป็นสวนหย่อมและเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ประทับยืนหันหน้าออกสู่ทะเล มีที่พักและร้านอาหารให้บริการนักท่องเที่ยว หาดมหาราชยังมีสภาพชายหาดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง สังเกตได้จากพืชที่ขึ้นปกคลุมแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของชายหาด

ชายหาดแห่งนี้เคยมีการสร้างกำแพงกันดินเพื่อปรับภูมิทัศน์ไปแล้วหนึ่งครั้ง (รูปที่ 1) ซึ่งปัจจุบันกำแพงนั้นได้ถูกพืชชายหาดปกคลุมจนเกือบมิด นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ชายหาดแห่งนี้ค่อนข้างเสถียร แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพใดๆ แม้ช่วงที่เกิดพายุซัดฝั่งอย่างพายุปาบึกเมื่อเดือนมกราคม 2562 จากการลงพื้นที่สำรวจก็ไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง มีเพียงทรายที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนถนนและน้ำที่กระเซ็นข้ามมาด้านในเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

รูปที่ 1 แนวกำแพงกันดินเดิมริมชายหาด (พ.ย.2562)

ชายหาดมหาราชเริ่มมีเสาเข็มจำนวนมากมาวางริมชายหาด มีการปักหมุดเขตการก่อสร้าง เมื่อเดือน พ.ย.2562 (รูปที่ 2) โดยในช่วงเวลานั้นยังไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ

รูปที่ 2 กองเสาเข็มริมชายหาด (พ.ย.2562)

หลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน ได้มีป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ (รูปที่ 3) มาวางอยู่ริมชายหาดบริเวณหัวมุมทางเลี้ยวโค้งหน้าร้านอาหารพร้อมกับการลงมือเปิดพื้นที่ทำงานบางส่วน รายละเอียดบนป้ายระบุว่ากำลังจะมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาว 1.102 กิโลเมตร พร้อมปรับภูมิทัศน์โดยทำซุ้มไม้ระแนงอีก 5 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 167.2 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี 1 เดือน คิดเป็น 151.72 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลเมตร แล้วสำหรับโครงการนี้ ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าโครงสร้างรูปแบบคล้ายกันที่เคยสร้างที่อ่าวน้อย จ.ประจวบฯ และที่อื่นๆ

รูปที่ 3 ป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ

ในช่วงเวลาใกล้ๆกันพบว่าเริ่มมีการขุดทรายด้านหน้าชายหาดและเปิดพื้นที่ก่อสร้างบางส่วน แสดงดังรูปที่ 4

รูปที่ 4  ภาพในมุมเดียวกัน ซ้าย 5 พ.ย.2562 และ ขวา 16 ธ.ค. 2562

ต่อมาในเดือน ม.ค.2563 ได้พบว่าโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการเปิดพื้นที่เพื่อก่อสร้างมากขึ้น เริ่มพบเห็นการเข้างานของเครื่องจักรหนัก และเริ่มลงเสาเข็มแล้วตามแนวชายหาดแล้ว (รูปที่ 5)

รูปที่ 5  ถ่ายเมื่อ ม.ค.2563

แม้จะเป็นช่วง Covid-19 ที่หลายพื้นที่ถูกจำกัดการทำกิจกรรม แต่งานก่อสร้างยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 6) โดยสังเกตได้อย่างชัดเจนจากภาพถ่าย ณ ตำแหน่งสิ้นสุดโครงสร้าง (รูปที่ 7) ว่าโครงสร้างหลักของกำแพงกันคลื่นนี้วางทับลงไปบนพื้นที่ชายหาดที่ยังสมบูรณ์

รูปที่ 6 ถ่ายเมื่อ พ.ค.2563
รูปที่ 7 ตำแหน่งสิ้นสุดกำแพงกันคลื่นระยะที่สอง (ต.ค.2563)

ตามต่อในตอนที่ 2: การเปลี่ยนแปลงของชายหาดมหาราช ได้เร็วๆนี้