การใช้มาตรการที่เกินจำเป็น
โครงการนี้ใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่วางทับลงไปบนชายหาดที่ไม่เกิดการกัดเซาะที่รุนแรง แม้พบว่าช่วงเวลาที่เคยถูกกัดเซาะนั้นมีอัตราที่รุนแรงจริง (เดือนมีนาคมถึงสิงหาคมของปี 2558 ในรูปที่ 2 อัตราการเปลี่ยนแปลงของชายหาดมหาราช จากตอนที่ 2/4) แต่พบว่าชายหาดฟื้นคืนสภาพกลับมาตามธรรมชาติได้อีกครั้งในปีเดียวกัน นั่นแปลว่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งตามฤดูกาลเท่านั้น หากเกิดการกัดเซาะอย่างถาวรเราจะไม่พบกระบวนการฟื้นคืนสภาพชายหาดเช่นนี้ และยังพบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2562 ชายหาดมหาราชระยะทาง 1.9 กิโลเมตรเกิดเปลี่ยนแปลงสุทธิในลักษณะของการทับถมในอัตรา 0.431 เมตรต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นชายหาดที่มีเสถียรภาพ ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้โดยกรมทรัพยากรธรณีและยึดถือปฏิบัติมาถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562)
นอกจากนั้น จากรูปความเสียหายจนเป็นเหตุจำเป็นให้หน่วยงานต้องดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่งบริเวณนี้ตามรูปที่ 4 (ภาพความเสียหายเมื่อ พ.ศ.2558 จากตอนที่ 2/4) พบว่า การกัดเซาะที่ปรากฏนั้นเกิดขึ้นเฉพาะจุด โดยเฉพาะตำแหน่งใกล้ๆกับทางระบายน้ำลงทะเล มิได้เกิดขึ้นตลอดทั้งแนวชายหาดแต่อย่างใด หากเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุแห่งการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันตลอดทั้งแนวชายหาดจริง เราจะพบการกัดเซาะตลอดทั้งแนวถนนเลียบชายหาด นั่นแปลได้ว่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงบางตำแหน่งและเฉพาะช่วงระยะเวลาหนึ่งตามฤดูกาลเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นชายหาดในตำแหน่งใกล้ๆกับทางระบายน้ำก็ฟื้นคืนกลับมาในสภาพปกติ สังเกตได้จากสภาพชายหาดที่กลับคืนมาจากภาพ Google street view ตามรูปที่ 3 (ร่องรอยกัดเซาะบนถนนเลียบชายหาดจาก Google street view จากตอนที่ 2/4) ซึ่งถ่ายไว้ 1 ปีหลังรูปที่ 4 (ภาพความเสียหายเมื่อ พ.ศ.2558 จากตอนที่ 2/4) เว้นเพียงถนนที่จำเป็นต้องซ่อมผิวทางบางส่วนตามที่ปรากฏในรูปที่ 3 (ร่องรอยกัดเซาะบนถนนเลียบชายหาดจาก Google street view จากตอนที่ 2/4) เท่านั้น
จึงสามารถสรุปได้ว่า รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มั่นคงถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างไม่รุนแรง ไม่มีเหตุผลอย่างเพียงพอที่ต้องสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ทับลงบนชายหาดที่ยังสมบูรณ์ รัฐควรเลือกใช้แนวทางเลือกที่ได้สมดุลกับการกัดเซาะที่ต้องการป้องกัน แม้ว่าต่อไปในภายภาคหน้า ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดการแทรกแซงสมดุลของชายฝั่งทะเลจนส่งผลให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะเข้ามาจนถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหรือเอกชนอย่างรุนแรง เมื่อถึงยามจำเป็นจึงค่อยพิจารณาป้องกันแก้ไขเฉพาะรายพื้นที่ ด้วยมาตรการที่สมดุลกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
การสร้างกำแพงกันคลื่นปิดทั้งชายหาดมหาราชด้วยงบประมาณ 167.2 ล้านบาทไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการยังมีมาตรการอื่นๆที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้คือการป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวในช่วงฤดูกาลมรสุมช่วงสั้นๆหรือช่วงใดช่วงหนึ่งร่วมกับการซ่อมแซมเฉพาะพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะบางช่วงเวลาและบางตำแหน่งของชายหาดโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเท่ากับโครงการที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังดำเนินการโครงสร้างป้องกันชายฝั่งลักษณะเช่นนี้จึงขัดต่อหลักความจำเป็น
ตามต่อตอนสุดท้าย : ประเด็นชวนคิด 2 (ตอนที่ 4/4) ได้เร็วๆนี้