กำแพงกันคลื่น… ไปต่อหรือพอแค่นี้?

กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได เป็นทางเลือกเพื่อการป้องกันชายฝั่งทะเลในยุคปัจจุบัน ที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองระบุว่าเป็นแนวทางเลือกที่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการป้องกันชายฝั่งในหลายๆพื้นที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด เช่น หาดมหาราช [https://beachlover.net/covid19-หาดมหาราช/] หาดม่วงงาม [https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-2-5/] จ.สงขลา หาดชะอำ จ.เพชรบุรี [https://beachlover.net/หาดขั้นบันได-ชะอำ/] ปากน้ำปราณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ [https://beachlover.net/ไทยริเวียร่า-ประจวบ/] เป็นต้น

โดยทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ระบุว่า โครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบตามหลักวิชานี้สามารถป้องกันชายฝั่งได้ดี สมควรดำเนินการต่ออีกในหลายพื้นที่ที่ยังรอคอยการแก้ไข เช่น หาดสวนสน จ.ระยอง และ ปากน้ำแขมหนู จ.จันทบุรี ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน

งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ณ หาดสวนสน จ.ระยอง (ภาพเมื่อ กรกฎาคม 2563)
งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ณ ปากน้ำแขมหนู จ.จันทบุรี (ภาพเมื่อ กรกฎาคม 2563)

ข้อเท็จจริงตามทฤษฎีก็คือ โครงสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ว่าจะเป็นแบบแนวดิ่ง ลาดเอียง หรือแบบขั้นบันไดที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังดำเนินการนั้น มีลักษณะเป็นกําแพงวางตัวตามแนวประชิดและขนานชายฝั่ง เพื่อรับแรงปะทะจากคลื่น ทำหน้าที่ตรึงแนวชายฝั่งให้อยู่กับที่  ทําให้พื้นที่ด้านหลังกําแพงกันคลื่นไม่ถูกกัดเซาะ โดยจะออกแบบไปเป็นรูปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเชิงพื้นที่  การยอมรับของประชาชน และงบประมาณ

ปากบารา จ.สตูล
เกาะพยาม จ.ระนอง
หาดพยูน จ.ระยอง

เนื่องจากกำแพงกันคลื่นวางตัวขนานกับชายฝั่งจะทำให้เกิดคลื่นสะท้อนด้านหน้ากำแพง โดยที่คลื่นจะมีความรุนแรงขึ้นด้านหน้ากําแพง ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อการใช้ประโยชน์ด้านหน้ากําแพงได้ เมื่อคลื่นเข้าปะทะกําแพงจะเกิดการตะกุยตะกอนทรายจากชายหาดด้านหน้ากําแพงกันคลื่น แล้วกระแสน้ําในทิศทางออกจากฝั่งซึ่งเกิดจากคลื่นจะพาตะกอนทรายเหล่านั้นออกไปนอกชายฝั่ง ส่งผลให้ระดับสันชายหาดลดต่ำลงระดับน้ำด้านหน้ากำแพงกันคลื่นลึกขึ้นจนชายหาดด้านหน้ากำแพงหดหายไปในที่สุด ส่งผลเสียต่อทรัพยากรและทัศนียภาพริมทะเล การที่ทรายด้านหน้ากำแพงหายไปยังทำให้เกิดการกัดเซาะที่ฐานของกำแพง ส่งผลต่อเสถียรภาพของกำแพงกันคลื่นด้วย

ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อชายหาดด้านหน้ากำแพงและพื้นที่ข้างเคียง

การเลี้ยวเบนของคลื่นเมื่อเข้ากระทบกำลังจะส่งผลให้ชายหาดส่วนถัดไปจากสุดปลายกำแพงด้านท้ายน้ําของกําแพง (Downdrift) เกิดการกัดเซาะได้เช่นกันดังนั้นหากใช้มาตรการสร้างกำแพงกันคลื่น จำเป็นต้องสร้างตลอดทั้งแนว มิฉะนั้นพื้นที่ใกล้เคียงที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดผลกระทบ โดย Beach Lover ได้เคยนำเสนอผลกระทบที่ว่านี้ผ่าน https://beachlover.net/seawall/ และในอีกหลายๆโพสไปแล้วก่อนหน้านี้

ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อพื้นที่ข้างเคียง
ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อพื้นที่ข้างเคียง

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้สร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่งไว้ในหลายพื้นที่ เป็นความจริงที่พื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นนั้นยังคงมั่นคงแข็งแรงตราบเท่าที่กำแพงกันคลื่นยังคงประสิทธิภาพในการป้องกัน แต่ก็ปฏิเสธมิได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ว่าไว้ทุกประการ ดังปรากฏชัดจากตัวอย่างภาพถ่ายโครงสร้างกำแพงกันคลื่นในที่ต่างๆ และเพิ่มเติมดังรูป

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ หากจุดสิ้นสุดของปลายกำแพงไม่ใช่หัวหาด หัวแหลม โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง หรือโครงสร้างปากแม่น้ำ จะเกิดการกัดเซาะต่อเนื่องทางด้านท้ายน้ำ จนอาจจะต้องสร้างกำแพงต่อไปเรื่อยๆ ใช้งบประมาณต่อไปเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไปเรื่อยๆ ดังแสดงไว้ใน https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-3-พื้นที่/ 

จากแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่ใช้เพื่อป้องกันชายฝั่งทะเลใน 3 กรม [https://beachlover.net/ร่างงบประมาณ-ชายฝั่ง-2564/] พบประเด็นที่น่าสนใจคือ ทั้ง 80 โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2564 นี้ เป็นการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 69 โครงการ และกรมเจ้าท่า จำนวน 6 โครงการ โดยทั้งหมดเป็นโครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนี้ได้ถูกถอดออกจากรายการโครงการที่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปเมื่อปลายปี 2556 [https://beachlover.net/ประกาศกระทรวงทรัพยากร-2/]

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้สามารถสรุปได้ว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อชายหาดเชิงกายภาพแล้วยังส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากตัวโครงสร้างกำแพงกันคลื่นเสียเองอย่างต่อเนื่อง จึงควรศึกษาให้รอบด้านก่อนพิจารณาใช้โครงสร้างนี้เพื่อป้องกันชายฝั่งเพราะผลที่เกิดขึ้นในลักษณะของโดมิโน่นี้จะยากเกินกว่าที่รัฐจะเยียวยาได้